โอห์ ดอง อุุน หัวหน้าสำนักงานสอบสวนคดีคอรัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อวาน (1 มกราคม) ว่าจะบังคับใช้หมายจับประธานาธิบดียุน ซอก ยอล และหมายค้นบ้านพัก ภายในเส้นตาย วันจันทร์ที่ 6 มกราคมนี้อย่างแน่นอน โดยหวังว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น แต่ก็กำลังประสานกับตำรวจ พร้อมเตือนว่า ใครก็ตามที่พยายามขัดขวางการเข้าจับกุม จะถูกดำเนินคดีเสียเอง
ประธานาธิบดียุน กำลังเผชิญกับการถูกสอบสวนข้อหาก่อกบฏ และใช้อำนาจโดยมิชอบ จากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนที่รัฐสภาลงมติยกเลิก ตามด้วยการลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งในสัปดาห์ต่อมา รอแค่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะคัดค้านหรือยืนยันมติของสภา ระหว่างนี้ ถูกพักการทำหน้าที่ประธานาธิบดี และเก็บตัวเงียบในบ้านพักประจำตำแหน่งในเขตยองซาน ของกรุงโซล มานานหลายสัปดาห์ โดยไม่ยอมไปให้ปากคำตามหมายเรียก 3 ครั้งติดต่อกัน ศาลในกรุงโซล จึงอนุมัติหมายควบคุมตัวเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยหมายนี้มีอายุ 7 วัน
นับจากศาลอนุมัติหมายควบคุมตัว บรรดาผู้สนับสนุน รุดไปปักหลักชุมนุมที่หน้าบ้านพักของนายยุน เพื่อให้กำลังใจและขัดขวางการเข้าจับกุม และล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา ทนายความของประธานาธิบดียุน ยืนยันว่า นานยุนได้ส่งสารเป็นข้อความลงกระดาษ A4 เซ็นชื่อกำกับ ถึงผู้สนับสนุนผ่านบุคคลที่สาม ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า เกาหลีใต้กำลังตกอยู่ในอันตราย จากปัจจัยภายนอกและภายในที่เข้าไปรุกล้ำอธิปไตย และกิจกรรมของกลุ่มต่อต้านรัฐ เขาจะต่อสู้กับผู้สนับสนุนเพื่อปกป้องประเทศชาติจนถึงที่สุด พร้อมแสดงความขอบคุณผู้สนับสนุน ที่เขาเฝ้ามองความเคลื่อนไหวผ่านทางไลฟ์สตรีมบนยูทูบ นายยุน กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยเสรี ที่ทุกคนในประเทศเป็นเจ้าของ ไม่ใช่รัฐ หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง จะเป็นฝ่ายชนะในท้ายที่สุด
ขณะที่ โจ ซึง แอ ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปไตย วิจารณ์ข้อความล่าสุดของประธานาธิบดียุน ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพ้อเจ้อ และกล่าวหาว่ายุนกำลังพยายามปลุกระดมผู้สนับสนุนให้เกิดการปะทะ
ที่เกาหลีใต้ มีประวัติการเข้าจับกุมเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองหลายครั้งไม่สำเร็จ เพราะถูกสมาชิกพรรคหรือกองเชียร์ขัดขวางตำรวจเข้าไปในที่พัก จนหมายจับหมดอายุหลังผ่านไป 7 วัน
ในวันเดียวกัน ยังมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกเมื่อ ทีมงานที่ยังเหลืออยู่ของนายยุน รวมถึงหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ และที่ปรึกษาพิเศษ พากันยื่นใบลาออก แต่นายชเว ซัง ม็อก รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ปฏิเสธอนุมัติ และขอให้คำนึงถึงเสถียรภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้
การลาออกเกิดจากความไม่พอใจที่นายชเว ตัดสินใจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ในคณะตุลาการที่พิจารณามติถอดถอนประธานาธิบดียุน ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน และทีมงานเดิมของยุน มองว่า เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรักษาการประธานาธิบดี