วันที่ 6 ม.ค.68 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการตีความทางกฎหมายและคำพิพากษาของศาล คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยวันนี้ (6 ม.ค.2568) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับกรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2567 กรณีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ กรมที่ดิน เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง นั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า ข้อมูลตามแถลงการณ์ดังกล่าวคลาดเคลื่อน จากข้อเท็จจริง ทั้งในแง่ของการตีความกฎหมาย และผลของคำพิพากษาของศาล เพื่อเป็นการรักษาและสงวนไว้ ซึ่งความเป็นเจ้าของสิทธิที่ดินที่เป็นข้อพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ประเด็นที่กรมที่ดินอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้ง 3 คดีครบถ้วนแล้วนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นว่า แม้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ข้อพิพาทแห่งคดีจะเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทยคัดค้านการออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 แปลงของราษฎรจำนวน 35 ราย ซึ่งภายหลังที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดินได้ยกเลิกการออกโฉนด และยกเลิกใบไต่สวนและจำหน่าย ส.ค.1 ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดินแล้วก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มิใช่เฉพาะที่ดินพิพาท 40 แปลงข้างต้นเท่านั้น แต่วินิจฉัยครอบคลุมถึงที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นต่อศาลด้วย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5,083 ไร่เศษ เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 คำวินิจฉัยของศาลก็ได้วินิจฉัยถึงแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มิใช่เฉพาะเพียงแค่ที่ดินซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวเท่านั้น แต่วินิจฉัยรวมถึงแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามแผนที่ที่กรมรถไฟแผ่นดินทำขึ้น (เอกสารหมาย จ.7 ในคดีดังกล่าวด้วย)
ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผลปรากฏว่ากรมที่ดินได้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยนอกเหนือไปจากที่ดินตามข้อพิพาทแห่งคดีด้วยแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมใช้ยันกรมที่ดินและผู้ถือเอกสารสิทธิในที่ดินทุกแปลงด้วย เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินในบริเวณดังกล่าว ย่อมเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด แต่กรมที่ดินละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้กรมที่ดินดำเนินการดังกล่าว