ในสังคมปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ทัศนคติ มุมมองและค่านิยม โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่พบว่านักศึกษาต้องการความเข้าใจ ต้องการคนรับฟังความคิดเห็น ซึ่งนักศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นถือว่าเริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้วและอยู่ในช่วงก่อนจะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เป็นช่วงที่ต้องการได้รับคำแนะนำ รับฟัง และแนะแนวเรื่องการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ปัญหาความรัก รวมถึงครอบครัวด้วย
ผู้สื่อข่าวสอบถาม น.ส.จันจิรา (สงวนนามสกุล) นักศึกษาหญิงปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในกทม. ถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาจารย์ผู้สอนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาได้ให้คำแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการเรียนหรือชีวิตส่วนตัว โดยนักศึกษาคนดังกล่าว บอกว่า ส่วนตัวเมื่อมีปัญหาทั้งเรื่องเรียน เรื่องข้อมูลการเรียนหรือเรื่องอื่น ๆ ก็มักจะโทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับอาจารย์ที่ปรึกษาโดยตรงอยู่บ่อยครั้ง และก็ได้รับคำแนะนำที่ดีทุกครั้งสำหรับการแก้ปัญหา รวมไปถึงปัญหาหัวใจ ในเรื่องความรักด้วย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่ที่นักศึกษา ไม่ว่าจะเพศชาย หญิง หรือเพศหลากหลาย ที่ส่วนหนึ่งเกิดความผูกพันรักชอบพอกับอาจารย์ที่สนิทสนมคอยให้คำแนะนำนั้น นักศึกษาปัจจุบันมองอย่างไรในเรื่องนี้ โดยนายวรัญญู นักศึกษาชาย คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ตอบว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกและก็มีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ที่ตนเองรู้จักในคณะหรือที่ได้ยินมาจากเพื่อนคณะอื่นก็มีหลายคู่ เมื่ออาจารย์ได้ให้คำแนะนำคอยช่วยเหลือเป็นเสมือนเพื่อนที่พูดคุยกันแล้วถูกคอ เข้าใจกันดี จนสนิทสนมชอบพอ และนำไปสู่การตกลงใจแต่งงานกันหลังเรียนจบปริญญาตรี
โดยในประเด็นเดียวกันนี้นางสาวเพลินพิศ นักศึกษาหญิง คณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มองว่าความสนิทสนมนั้นถ้าทั้งสองฝ่ายโสดไม่มีพันธะถือว่าไม่เสียหายอะไรเพราะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นผู้ใหญ่ระดับหนึ่งไม่ใช่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และที่สำคัญสถานะระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเหมือนสมัยก่อนที่นักศึกษาต้องเคารพบูชาอาจารย์ แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่เหมาะสมถ้ามีผู้พบเห็นความสนิทสนมนั้นโดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนการแต่งงานของอาจารย์กับลูกศิษย์ตนมองว่า นักศึกษาควรจะเรียนจบปริญญาก่อน
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมประเด็นความเห็นจากฝั่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พบว่า อาจารย์ส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจุบันนักศึกษาไม่ได้เกรงกลัวอาจารย์เหมือนในสมัยก่อนแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็ยอมรับได้เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ขอแค่ว่ามีมารยาทสุภาพก็พอ ส่วนเรื่องความสนิทสนมนั้นถ้าเกิดขึ้นนอกห้องเรียนหลังจากจบวิชาที่สอน ไม่ได้มีความลำเอียงในการให้คะแนน อาจารย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าสังคมยอมรับได้ และยกตัวอย่างหลายคู่ที่รู้จักสนิทสนมกันตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้วพัฒนาจนแต่งงานกันหลังจบ แม้แต่ในระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งก็แต่งงานกับอดีตนักศึกษาที่เคยสอนหรือเคยเป็นที่ปรึกษาวิจัย อาจารย์ท่านหนึ่งทิ้งทายว่าเป็นอาจารย์ทำงานเจอแต่นักศึกษาและอาจารย์ ถ้าไม่ใช่แต่งงานกับอาจารย์ด้วยกัน ก็อาจจะมีบ้างที่แต่งงานกับอดีตนักศึกษาที่สนิทสนมกันตั้งแต่สมัยเรียน
สำหรับบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ได้ครองตัวเป็นโสดมานานแต่สุดท้ายตกลงใจแต่งงานใช้ชีวิตสมรสกับลูกศิษย์หลังจบแล้ว ก็พบว่ามีหลายคู่ เช่น รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รู้จักสนิทสนมกับฝ่ายหญิง จากการที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ช่วยวิจัยตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ก่อนจะแต่งงานหลังจากฝ่ายหญิงเรียนจบปริญญา ด้วยอายุที่ห่างกันถึง 27 ปี
นอกจากนั้น ยังมีผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ แต่งงานกับลูกศิษย์ภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเพียงไม่นาน โดยฝ่ายหญิงเคยทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้านประมงด้วยกันกับอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ธรณ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าได้ขอแต่งงานหลังจากฝ่ายหญิงจบปริญญาตรีได้เพียงแค่สามวัน