“ดร.สามารถ” ชี้แผ่นดินไหว “ภัยใกล้ตัว” กางบัญชีพื้นที่เสี่ยง แนะเรียนรู้รับมือป้องกัน

"ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แผ่นดินไหว "ภัยใกล้ตัว" กางบัญชีพื้นที่เสี่ยง แนะเรียนรู้รับมือป้องกัน

“ดร.สามารถ” ชี้แผ่นดินไหว “ภัยใกล้ตัว” กางบัญชีพื้นที่เสี่ยง แนะเรียนรู้รับมือป้องกัน – Top News รายงาน

ดร.สามารถ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte โดยระบุว่า.. แผ่นดินไหว “ภัยใกล้ตัว”

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ล่าสุดเกิดขึ้นที่เขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับความรุนแรงสูง มักจะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก น่าเศร้าสลดยิ่งนัก เราได้เห็นภาพการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่มลงมา ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน ผู้รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิต นับเป็นความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง ทำอย่างไรจึงจะลดความสูญเสียลงได้ ?
1. จังหวัดในประเทศไทยที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว
กฎกระทรวงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2564 ได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยได้ระบุพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 3 บริเวณ ดังนี้
(1) บริเวณที่ 1 หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย
(2) บริเวณที่ 2 หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง มี 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี
(3) บริเวณที่ 3 หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระดับสูง มี 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยของเรามีจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวรวมทั้งหมด 43 จังหวัด หรือเกินครึ่งประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎกระทรวงฯ ระบุไว้ในปี 2550 จำนวน 22 จังหวัด และในปี 2540 จำนวน 10 จังหวัด แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่าแผ่นดินไหวอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวงกว้างขึ้น ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ข่าวที่น่าสนใจ

2. การลดความสูญเสียจากแผ่นดินไหว
การลดความสูญเสียที่ดีที่สุดก็คือการออกแบบอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวในระดับหนึ่งได้ ถ้าแผ่นดินไหวมีระดับความรุนแรงไม่เกินขีดความสามารถของอาคารที่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว อาคารก็จะไม่พังทลายลงมา ทั้งนี้ อาคารที่จะต้องออกแบบให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับในการออกแบบอาคารบางประเภทเท่านั้น เช่น อาคารที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือและบรรเทาภัยหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว คลังสินค้า โรงมหรสพ หอประชุม สนามกีฬา หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน สถานศึกษา หอสมุด ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตร หรือ 5 ชั้นขึ้นไป (สำหรับบริเวณที่ 1 และ 2) และอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร หรือ 3 ชั้นขึ้นไป (สำหรับบริเวณที่ 3) เป็นต้น
แม้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมอาคารทุกประเภทและทุกขนาดความสูงก็ตาม แต่เจ้าของอาคารที่ได้รับการยกเว้นก็อาจเลือกที่จะก่อสร้างอาคารของตนให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวในระดับที่ตนต้องการก็ได้ ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ของราคาโครงสร้างอาคาร
ในการออกแบบอาคารให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้นั้น จะต้องเป็นไปตามแนวทางในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 โดยได้กำหนดรายละเอียดด้านเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวตามระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่กำหนด
3. ข้อเสนอแนะ
(1) อาคารที่ก่อสร้างก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแนะนำให้เสริมความแข็งแรงตามความเหมาะสม
(2) ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องในขณะเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว
ในสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผมมักใช้เวลาเรียนและทำงานวิจัยอยู่ที่อาคาร 9 ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นอาคารสูง เพราะในเวลานั้นอาคารส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยสูงไม่เกิน 2 ชั้น ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว (ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย) จะรู้สึกว่าอาคารโยกตัวได้อย่างชัดเจน บางครั้งก็โยกตัวอยู่นานหลายนาที ผมเคยเอ่ยถามเพื่อนนักเรียนชาวญี่ปุ่นว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในขณะที่เกิดแผ่นดินไหว คำตอบติดตลกที่ได้รับก็คือ ไม่ต้องทำอะไร !
แต่ที่จริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นได้รับทราบถึงวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องในขณะเกิดแผ่นดินไหวมาตั้งแต่เยาว์วัย วิธีดังกล่าว เช่น นั่งลงเพื่อป้องกันการหกล้ม ใช้มือยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เพื่อไม่ให้ตัวเรากระเด็นไปที่อื่น หลบใต้ที่กำบังซึ่งอาจจะเป็นโต๊ะ (โดยเฉพาะโต๊ะเหล็ก โชคดีที่โต๊ะทำงานของผมที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และที่ Apartment ชานกรุงโตเกียวเป็นโต๊ะเหล็ก) ไม่ควรอยู่ใต้คาน ควรอยู่ห่างจากกระจกหน้าต่าง ตู้หรือชั้นวางของ เป็นต้น เมื่อมั่นใจว่าอาคารหยุดโยกตัวแล้วให้รีบออกจากอาคารทันที วิธีการนี้จะใช้ได้ผลในกรณีที่อาคารไม่พังทลายลงมาเท่านั้น
4. สรุป
ทั้งหมดนี้ ผมไม่ต้องการให้ผู้อ่านตระหนกตกใจ แต่อยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่าแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไปแล้ว อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พีช บีเอ็ม" ยกมือไหว้พร้อมคุกเข่า ขอโทษครอบครัวผู้เสียหายต่อหน้าสื่อ
ด่วน "ดีเอสไอ" บุกรวบ "ชวนหลิง จาง" กรรมการ "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" หลังโดนหมายจับ พร้อมก๊วนคนไทย
รัฐบาลทรัมป์เผลอส่งอีเมล์กดดันฮาร์วาร์ด
รัฐบาลสหรัฐฯศึกษาหาทางปลดประธานเฟด
"พีช บีเอ็ม" หอบพวงมาลัย รอขอโทษ "ญาติลุงกระบะ" "นายกเบี้ยว"ตะโกนใส่สื่ออย่ามาเบียด
"ตร.ปอศ." รวบหนุ่มหื่น ลวงเด็ก 14 ผ่านเฟซบุ๊กทำอนาจาร หนีความผิดกบดานประเทศเมียนมา
ผบก.ภ.ปทุมฯ ยันแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา "พีช บีเอ็ม" แค่เบื้องต้น เร่งสอบสภาพรถ คำให้การลุงป้า นำพิสูจน์ฟ้องผิด
นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เจ้าของฉายา "สิงห์สนามศุภฯ" เสียชีวิตแล้วในวัย 77 ปี
"กองทัพบก" เสียใจ สูญเสีย "พ.อ.พิฆราช" นายทหารจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกู้ภัยเหตุตึกสตง.ถล่ม ตั้งแต่ 28 มี.ค.จนนาทีสุดท้าย ไม่เคยหยุดภารกิจ
อย่าหลงเชื่อ "คลิปวัดร่องขุ่นถล่ม" ว่อนโซเชียลฯ "อ.เฉลิมชัย" ลั่น AI มันร้าย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น