ครูสาวถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้เบอร์ธนาคารโทรหา สูญเงินกว่า 1.2 ล้าน
ข่าวที่น่าสนใจ
: ผู้เสียหายรายนี้เป็นครูสาวชาวจังหวัดอุบลราชธานี ถูกมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยใช้เบอร์ของธนาคารโทรหา จึงทำให้ครูสาวรายนี้หลงเชื่อ เสียเงินไปมูลค่ากว่า 1 ล้าน 2 แสนบาท ก่อนที่ผู้เสียหายจะเดินทางมาร้องขอความช่วยเหลือจากนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา
ครูสาว เล่าว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา มีเบอร์โทรจาก อบต.ท้องถิ่น ที่เธอได้ไปซื้อที่ดินไว้ โทรมาแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวมีปัญหา เป็นที่ทับซ้อนกับที่ดินข้างเคียง ขอให้เธอไปขอเอกสารที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี และนำไปยื่นที่ อบต. เพื่อจะเจรจากับเจ้าของที่ดินข้างเคียง จัดการรังวัดที่ดินใหม่ ซึ่งอีกฝ่ายรู้ข้อมูลที่ดินของเธอทั้งหมด ว่าเป็นที่ดินในป่า มีการจดทะเบียน มีบ้านเลขที่ ทำให้เธอหลงเชื่อว่าที่ดินมีปัญหาจริง จากนั้นอีกฝ่ายจึงให้เบอร์สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีมา แต่เมื่อโทรไป ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ไปกรอกข้อมูลยื่นออนไลน์ และเริ่มมีพิรุธ เธอคิดว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ จึงตัดสินใจวางสายไป
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีอีกเบอร์โทรเข้ามา ตอนแรกเธอไม่รับ แต่อีกฝ่ายก็โทรมาไม่หยุด จนเธอเริ่มเห็นว่าเบอร์ดังกล่าวคุ้นตา เมื่อนำไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่าเป็นตรงกับเบอร์ของธนาคารชื่อดัง เธอจึงตัดสินใจรับสาย ซึ่งคราวนี้อีกฝ่ายพูดคล่องแคล่ว ไม่เหมือนมิจฉาชีพที่เคยโทรมา และบอกว่าโทรศัพท์มือถือของเธอโดนแฮก ต้องรีบแก้ไข ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่โทรศัพท์มือถือของเธอเริ่มมีอาการค้าง และช้าจริงๆ ทำให้เธอเชื่อ และทำตามที่อีกฝ่ายแนะนำ โดยตอนแรก ก็บอกให้เธอเข้าแอปฯธนาคาร เข้าไปตั้งค่ารักษาความปลอดภัยต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงวงเงิน หรือการโอนเงิน และยังให้เธอเข้าไปเช็กแอปฯ แปลกปลอมในโทรศัพท์ด้วย ทำให้เธอเชื่อสนิทใจว่าเป็นการรักษาเงินในบัญชี
แต่จู่ ๆ โทรศัพท์ก็ช้าลงจนพิมพ์อะไรไม่ได้ อีกฝ่ายจึงบอกว่ามิจฉาชีพเริ่มทำงานแล้ว ต้องรีบเอาเงินออกจากบัญชีธนาคารโดยเร็วที่สุด ด้วยการโอนไปที่บัญชีของบุคคลหนึ่ง ซึ่งธนาคารเตรียมไว้สำหรับป้องกันมิจฉาชีพ จากนั้นให้ไปแจ้งความ และนำสลิปโอนเงินไปรับเงินคืนที่ธนาคารสาขาได้ เธอจึงหลงเชื่อ ยอมโอนเงินไป 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1 ล้าน 2 แสนบาท
หลังตั้งสติได้ เธอได้โทรไปที่ธนาคาร เพื่ออายัดบัญชีมิจฉาชีพ แต่ก็ไม่ทัน และได้ถามว่าเหตุใดเบอร์ที่โทรเข้ามา จึงเหมือนเบอร์คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารดังกล่าว จากนั้นก็ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี แม้ตำรวจจะรับแจ้งความ แต่ก็บอกว่าไม่น่าจะได้เงินคืน ทำให้เธอใจเสีย และเมื่อกลับมาตรวจดูแอปฯ แปลกปลอมอีกครั้ง ก็พบแอปฯ แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงถอนการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวไป ซึ่งเธอก็ไม่รู้ว่าแอปฯดังกล่าวติดตั้งไว้ตั้งแต่ตอนไหน เพราะก่อนหน้านี้ลูกสาวมักจะยืมโทรศัพท์มือถือของเธอไปเล่นเป็นประจำ
ด้านนายเอกภพ กล่าวว่า เคสนี้ก็เหมือนเคสอื่นทั่วไป แต่ที่น่าสนใจคือเป็น “มิจซ้อนมิจ” ที่บอกแบบนี้ก็คือ มันถูกวางแผนมาแล้ว เพราะว่าคนไทยส่วนให้นั้นจับทางของมิจฉาชีพได้แล้ว โดยเฉพาะการโทรมาสอบถามข้อมูลส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบันนี้เราทุกคนต่างตระหนัก และป้องกันตัวเองอยู่แล้ว เมื่อมิจแรกโทรเข้ามา เราจับได้แล้วว่าเป็นมิจฉาชีพ แต่จู่ๆ มิจฉาชีพกลับใช้แผน2 ใช้เบอร์ของธนาคารโทรเข้ามา บอกให้เราป้องกันการถูกดูดเงินออกจากบัญชี จึงทำให้เหยื่อหลงเชื่อ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นมิจฉาชีพ ซึ่งวางแผน 2 ชั้น มาหลอกเรา วันนี้จึงขอเตือนคนไทยทุกคน
ทั้งนี้ ตนเองเชื่อว่า ตำรวจน่าจะติดตามจับกุมบัญชีม้ามาได้ ส่วนจะได้เงินครบตามจำนวนหรือไม่นั้น แต่อย่างน้อยพวกบัญชีม้าก็ถูกดำเนินคดี และถ้าบัญชีม้าเหล่านี้ไม่อยากติดคุกก็จะต้องหาเงินมาคืนให้กับผู้เสียหาย ส่วนตัวการใหญ่นั้น เราต่างก็รู้อยู่แล้วว่าอยู่ในต่างประเทศ คงจะต้องฝากไปยังตำรวจไซเบอร์ช่วยสืบสวนขยายผล นำตัวมาดำเนินคดีต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น