“ปิยบุตร” ไม่หยุดปลุกเร้า ชู 2 ภารกิจพรรคส้ม ยกโมเดลนักปฏิวัติ สร้างเปลี่ยนแปลงใหญ่อนาคต
ข่าวที่น่าสนใจ
เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เรื่อง 2025/2568 : 2 ภารกิจ 1 ข้อชวนคิด
โดยนายปิยบุตร ระบุรายละเอียดตอนหนึ่งว่า 2 ภารกิจ ในปี 2025/2568 นี้ พรรคการเมืองที่ต้องการเป็น “พรรคมวลชน/พรรคยุทธศาสตร์/พรรคอุดมการณ์” มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ มิใช่ลงเลือกตั้งเพื่อ “ขอแบ่ง” สัมปทานอำนาจรัฐเท่านั้น พรรคการเมืองที่มีแนวทางเช่นนี้ ต้องทำอะไร?
มีภารกิจสำคัญอยู่ 2 ประการ
ภารกิจแรก การติดอาวุธความคิดและการ politicize มวลชน มวลชนของพรรค ตั้งแต่ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งให้ แต่ไม่ได้ติดตามพรรค, ผู้ผูกมัดกับพรรค, สมาชิกพรรค สมาชิกพรรคที่ผูกมัดกับพรรค เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรค เป็นต้น จำนวนสมาชิกจะต้องไม่เป็นเพียง “จำนวนตัวเลข” พรรคต้องมีมวลชนที่เป็นทั้ง “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้พรรค ยามเมื่อพรรคถูกรุมกระหน่ำ เป็นทั้ง “เท้าที่คอยถีบคอยดัน” ให้พรรคก้าวไปข้างหน้า และเป็นทั้ง “สัญญาณเตือนภัย” ให้พรรค ยามเมื่อพรรคออกนอกลู่นอกทาง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จำนวนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ตีตัวเลขกลมๆเสีย 20 ล้าน ร้อยละ 10 ของ 20 ล้าน คือ 2 ล้านจำนวน 2 ล้าน ต้องไม่เป็นแค่ตัวเลข แต่เป็นพลัง พรรคจำเป็นต้องติดอาวุธความคิดมวลชน เพื่อเปลี่ยนจำนวนเหล่านี้ที่อยู่ในหีบบัตร ให้กลายเป็นคนที่พร้อมออกมาแสดงตนในพื้นที่สาธารณะ
สำหรับบรรดาแกนนำหรือตัวแทนของพรรคที่ไปรับตำแหน่งการเมืองและได้กระแสความนิยมจากมวลชน พวกท่านต้องไม่ติดยึดหรือหลงใหลเพลิดเพลินกับความนิยมป๊อปปูลาริตี้เหล่านั้น อาจทำให้ท่านละเลยภารกิจการเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา หันไปสนใจแต่เรื่องของตนเอง ได้ยอดไลค์ ยอดแชร์เท่าไร ต้องโพสต์หรือแสดงความเห็นอย่างไรให้ “ปัง” เพื่อให้ได้ออกรายการคุณสรยุทธ์ ต้องโพสต์มุมน่ารักตะมุตะมิอย่างไรถึงจะเป็นไวรัลในโลกโซเชียล
ภารกิจที่สอง นายปิยบุตร ระบุว่า การแปลง “นามธรรม” ให้เป็น “รูปธรรม” “ต้องเปลี่ยนแปลง” “ใหม่” “พลังใหม่” “การเมืองใหม่” ถ้อยคำเหล่านี้ใช้เป็น “คำขวัญ” เพื่อชูธงรณรงค์ได้ แต่เมื่อใช้ไปนานวัน ก็อาจจะเฝือ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า พรรคยังไม่มีโอกาสมีและใช้อำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงเสียที คำขวัญเหล่านี้จากเดิมที่ดูสดใหม่ก็กลายเป็นเรื่องนามธรรม และใช้ในการโฆษณารณรงค์เท่านั้น ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วสองครั้ง ยังไม่มีโอกาสได้ “เปลี่ยนแปลง” ใดๆเลย โอกาสครั้งที่สามที่ประชาชนจะมอบให้ อาจเป็นโอกาสท้ายๆแล้ว จะได้โอกาสนี้ ก็ต้องทำให้ประชาชนจินตนาการให้เห็นถึง “โลกใหม่ สังคมใหม่” ที่พรรคพูดนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร
สำหรับ 1 ข้อชวนคิด นายปิยบุตร ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศของเรา ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยการใช้กลไกตามระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกัน มวลชนผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศของเรา ก็มิอาจละทิ้งแนวทางรัฐสภา การมีพรรคการเมือง และการเลือกตั้งไปได้ ปรัชญาเมธีปฏิวัติและนักปฏิวัติ เช่น เลนินและกรัมชี่ ไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาโดยเด็ดขาด
แต่ชี้ชวนให้เราเห็นคุณประโยชน์ของการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา ในช่วงเวลาที่ยังไม่สุกงอมเพียงพอ นักปฏิวัติต้องใช้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาเป็นพื้นที่ในการรณรงค์ต่อสู้ ทำงานทางความคิด เปลี่ยนใจผู้คน สะสมกำลัง เพื่อเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคต พรรคการเมืองที่มีแนวทางการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จึงต้องมอง “การเลือกตั้งและระบบรัฐสภา” เป็นวิธีการ มิใช่เป้าหมาย และใช้มันเป็นเครื่องมือในระยะเปลี่ยนผ่าน หากไม่คิดอ่าน ตระเตรียมเรื่องเหล่านี้ สุดท้ายการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาที่เราวางไว้เป็น “เครื่องมือ” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็จะกลายเป็น “เครื่องมือ” ที่ทำให้คนหน้าใหม่ได้กลายเป็นอำมาตย์ใหม่ ยกสถานะเป็นชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มใหม่ ได้เข้าสู่อำนาจรัฐ ได้เป็น “พะนะทั่น” รับสิทธิประโยชน์โพดผลของกำนัลจนเคยตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น