มติรัฐสภา รับหลักการร่างแก้ข้อบังคับ เปิดทางคนนอกนั่งกมธ.แก้รธน.

มติรัฐสภา รับหลักการร่างแก้ข้อบังคับ เปิดทางคนนอกนั่งกมธ.แก้รธน.

Top news รายงาน วันนี้ ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับประชุมรัฐภา ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม

สำหรับสาระสำคัญของร่างข้อบังคับประชุมรัฐภา เป็นการเสนอแก้ไขใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมต่อกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการ 2.ลดการใช้กระดาษเพิ่มใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์สำหรับงานธุรการของรัฐสภา และ3.ยกเลิกบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่มีความจำเป็นเกี่ยวกับหมวดการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่เกี่ยวการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ทั้งนี้นายพริษฐ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า เป็นข้อเสนอเพื่อปลดล็อค และเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง หรือ สว. เสนอชื่อบุคคลทั่วไปเข้าไปร่วมทำงานกับสมาชิกรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น เพราะนักวิชาการหรือตัวแทนภาคประชาสังคมอาจจะเชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญมากกว่าสมาชิกรัฐสภาด้วยซ้ำ รวมถึงอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในแต่ละพรรค ที่อาจจะมีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง เช่น พรรคเพื่อไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และแนวทางที่ตนเสนอในวันนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่เราใช้กันอยู่ในชั้นของสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ อีกทั้งแนวทางนี้ยังสอดคล้องกับข้อเสนอของหลายฝ่ายเกี่ยวกับกลไกของ ส.ส.ร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

 

ขณะที่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. อภิปรายว่า การกำหนดโครงสร้างกรรมาธิการที่ตัวแทนประชาชนมีบทบาทมากกว่า สว. อาจจะเป็นหนึ่งกลไกหรือกลยุทธ์ในการลดเสียงคัดค้านที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ และอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 114 ระบุไว้ชัดว่า สส.และสว.เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว และเห็นว่าร่างแก้ไขข้อบังคับของนายพริษฐ์สามารถตั้งใครก็ได้ในจำนวนกรรมาธิการ 45 คน ไม่ต้องมีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวเลยก็ได้ จึงไม่สมควร และไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ รวมถึงหากโครงสร้างของกรรมาธิการไม่สมดุล เช่น มีตัวแทนประชาชนและสส.มากเกินไปเมื่อเทียบกับ สว. อาจส่งผลให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญชี้นำโดยเสียงข้างมากได้ นอกจากนี้กระบวนการคัดเลือกตัวแทนประชาชนควรโปร่งใสและยุติธรรม ป้องกันไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ย้ำอาจจะมีการลดทอนอำนาจการถ่วงดุลของ สว.และสส. แล้วไปเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับ

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่าการตั้งกรรมาธิการที่กำหนดสิทธิให้ผู้แทนประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นกรรมาธิการ หากเอาตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่โดยไม่ไว้วางใจฝีมือ สมาชิกรัฐสภาแก้กฎหมาย เท่ากับว่าระบบรัฐสภาล้มเหลว ดังนั้นการเปิดช่องแบบนี้ไม่เห็นด้วย

ส่วนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยควรรับหลักการ แม้มีข้อถกเถียงในการตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเป็นกรรมาธิการได้หรือไม่ แต่สามารถพิจารณาในชั้นกรรมาธิการได้ เพื่อหาข้อสรุปทางกฎหมาย

จากนั้นนายพริษฐ์ อภิปรายสรุปด้วยว่าการประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาบอกว่าอาจไม่มีสส. สว. เป็นกรรมาธิการเลยนั้นอาจเป็นไปได้ แต่หากเห็นว่าควรมีสมาชิกรัฐสภาอยู่ในกรรมาธิการ ในโควต้าของ สว.ก็ไม่ต้องเสนอคนนอกเพื่อปิดปัญหา อย่างไรก็ดีหากสว. หรือ สส. จะเสนอชื่อใครต้องขออนุมัติจากสมาชิกรัฐสภา หากพบว่ามีกรรมาธิการที่น้อยไป สามารถแก้ไขได้

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ โดยรัฐสภามีมติ 415 เสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ถือว่ารัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่พรรคประชาชนเสนอ จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณา 18 คน ซึ่งได้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ไม่ยอมรับรายชื่อสว.ที่เสนอโดยวิปวุฒิสภา พร้อมกับขอให้ใช้มติของรัฐสภาลงมติเพื่อตัดสิน เพราะการเสนอรายชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนของสว.นั้น ไม่ได้รับฟังเสียง สว.ข้างน้อย

ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ พยายามประนีประนอมให้ สว.หารือเป็นการภายในเพื่อหาข้อยุติ ขณะที่ สส.เองก็มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทำให้มีผู้เสนอให้พักการประชุม 30 นาที และกลับมาพิจารณาอีกครั้งในเวลา 13.30 น. จากนั้นให้ตัวแทน สว. เสนอรายชื่อกรรมาธิการสัดส่วนของ สว. 5 คน โดย สว.กลุ่มพันธ์ใหม่ได้ต่อรองสำเร็จ และส่งชื่อนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ เป็นกรรมาธิการ 1 ที่นั่ง

 

สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 18 คน มีดังนี้

สว.5คน 1.นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ 2.นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ 3.พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ 4.นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ 5.นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์

สส. 13 คน แบ่งเป็น พรรคประชาชน 4 คน 1.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ 2.นายนิติพล ผิวเหมาะ 3.นางสาวนิยตา มีศรี 4.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ,พรรคเพื่อไทย 4 คน 1.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว 2.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ 3.ผศ.วรวิทย์ บารู 4.นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ,พรรคภูมิใจไทย 2 คน 1.นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง 2.นายณัฐชนน ศรีก่อเกื้อ ,พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน นายวิทยา แก้วภราดรัย ,พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ได้แก่ นายกาญจน์ ตั้งปอง และพรรคกล้าธรรม 1 คน ได้แก่ นายปกรณ์ จีนาคำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

กกต.แจงแนวทาง-ระเบียบ“ผู้ช่วยหาเสียง” เลือกตั้งอบจ. เตือนอย่ากระทำขัดต่อกม.
กทม.ลุยตรวจ "รถเมล์" ควันดำอู่ต้นทาง ลดฝุ่น PM2.5
DSI เอาผิด "เอก สายไหมต้องรอด" ฐานหมิ่นประมาท ปมใส่ความกล่าวอ้าง "เทวดา DSI" ช่วยดิไอคอน
ย้อนฟัง “ครูวิทย์” ตชด.เหยื่อโจรใต้ ผมไม่เคยคิดย้ายหนี-ขอปกป้องเด็กๆด้วยชีวิต
ผู้โดยสารบินจากไทยถูกจับที่นอร์เวย์พร้อมกัญชากว่า 40 กก.
"ฉก.ทัพเจ้าตาก" ปะทะเดือด "ขบวนการลำเลียงยาเสพติด" ชายแดนแม่ฟ้าหลวง คนร้ายดับ 4 ราย ยึดไอซ์กว่า 1 ตัน
กกต.งัดหนังสือโต้กลับ “วิโรจน์” ย้ำแจ้งนายจ้างตั้งแต่ธ.ค.67 แล้ว ให้ลูกจ้างไปเลือกอบจ.
ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์เปิดไฟล์ทเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกงด้วย C919 รับปีใหม่
ปรากฏการณ์ ‘น้ำตกเมฆ’ ไหลอาบขุนเขาจีน
สหรัฐ: แอลเอเตรียมรับไฟป่าลุกลามหลังลมทวีความรุนแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น