เทเลกราฟ รายงานว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศส สนับสนุนแนวคิดส่งทหารยุโรปรักษาสันติภาพเข้ายูเครนมาตั้งแต่ต้น และเคยหยิบยกมาพูดคุยกับประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนกี้ ของยูเครน และโดนัลด์ ทัสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์มาก่อนแล้ว ขณะที่ โฆษกทำเนียบนายกฯอังกฤษ และทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำอังกฤษ กับ ประธานาธิบดีมาครง หารือความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ระหว่างพบเจอกันที่อังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดการสนทนา
แต่แหล่งข่าวในรัฐบาลอังกฤษ เปิดเผยว่า สตาร์เตอร์ ยังไม่ได้เห็นพ้องอย่างเต็มตัว ยังมีหลายประเด็นที่ต้องขบคิด เช่น อังกฤษสามารถสนับสนุนอะไรได้บ้าง หรือต้องการจะสนับสนุนด้านใด และคำถามกว้างกว่านั้น คือภัยคุกคามที่ทหารอาจจะต้องเผชิญ และนี่จะกลายเป็นการยกระดับสถานการณ์หรือไม่
ข้อเสนอนี้มีขึ้นขณะผู้นำยุโรป กำลังเร่งรีบหาข้อสรุปว่า จะสนับสนุนอธิปไตยของยูเครนอย่างไรต่อไป ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้ และเตรียมผลักดันยูเครน ให้ต้องบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย โดยล่าสุด ทีมงานทรัมป์ตั้งเป้าทำให้สำเร็จใน 6 เดือนแรกหลังรับตำแหน่ง จากที่ทรัมป์เคยคุยว่าจะปิดจบใน 1 วัน
จุดยืนของรัฐบาลอังกฤษที่แสดงออกมาอย่างเปิดเผย คือพันธมิตรตะวันตก ควรให้การสนับสนุนเซเลนสกี้ต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้ชาวยูเครนตัดสินใจเองว่า พร้อมจะเข้าสู่การเจรจาสันติภาพหรือไม่และเมื่อไหร่ แต่แบบเป็นส่วนตัวและหลังฉาก รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อังกฤษคาดหวังให้ทรัมป์ บีบยูเครนและรัสเซียให้เจรจากัน ควบคู่ไปกับพยายามวางแผนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป แนวคิดหนึ่งที่เริ่มพูดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แค่ไม่ได้ออกมาสู่สาธารณะ ก็คือหากรัสเซียสามารถเก็บดินแดนยูเครนที่ยึดไว้ได้ อาจจะต้องมีทหารตะวันตก เข้าไปรับประกันว่าดินแดนที่เหลืออยู่ของยูเครน จะได้รับการปกป้องจากการรุกรานของรัสเซียในอนาคต แต่สหรัฐฯในยุคทรัมป์ ไม่น่าจะส่งทหารเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะทรัมป์เคยวิจารณ์เรื่องการส่งทหารไปประจำการในต่างแดน และโจมตีการสนับสนุนทางการเงินแก่ยูเครน
แนวคิดที่สหรัฐฯเคยเปรยออกมา คือการส่งทหารตะวันตก ไปประจำชายแดนความยาวประมาณ 1 พัน 290 กิโลเมตร ระหว่าง “ยูเครนใหม่” กับรัสเซีย และกำหนดเป็นเขตกันชนปลอดทหาร และประธานาธิบดีมาครง ก็กำลังผลักดันให้ทหารจากยุโรปเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเคยหารือกับนายกรัฐมนตรีทัสก์ของโปแลนด์ แต่ทัสก์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้โดยบอกว่า โปแลนด์ยังไม่มีแผนการทำเช่นนั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์ แห่งอังกฤษ เดินทางเยือนยูเครนเป็นครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนกรกฏคม และเป็นการเยือนแบบไม่ประกาศล่วงหน้า ในโอกาสนี้ สองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนอายุ 100 ปี เพื่อตอกย้ำว่าอังกฤษจะให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มกำลัง
หลังจากผู้นำอังกฤษเดินทางถึงยูเครนไม่กี่ชั่วโมง เสียงไซเรนและเสียงระเบิดดังกึกก้องในกรุงเคียฟ ขณะที่ระบบป้องกันทางอากาศของยูเครน ยิงทำลายโดรนลำหนึ่งที่บินส่งเสียงอยู่ไม่ไกล จากสำนักงานของประธานาธิบดีมากนัก เซเลนสกี้ กล่าวว่า นั่นเป็นการทักทายจากรัสเซีย และเดี๋ยว ยูเครนก็จะส่งโดรนของตัวเอง ไปทักทายกลับ
ส่วน สตาร์เมอร์ กล่าวว่า การส่งโดรนมาต้อนรับเขาในเคียฟ ตอกย้ำถึงสิ่งที่ชาวยูเครนต้องเผชิญในแต่ละวัน และประกาศว่า อังกฤษไม่ได้อยู่เคียงข้างแค่วันนี้ แต่จะเป็นเช่นนี้ไปอีก 100 ปี และจะร่วมมือกับพันธมิตร สร้างหลักประกันว่า ข้อตกลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีความเข้มแข็งมากพอ “รับประกันความมั่นคงให้กับยูเครน” และ “ป้องปรามความก้าวร้าวของรัสเซียในอนาคต แต่สตาร์เมอร์ ไม่ตอบคำถามนักข่าวที่ว่าอังกฤษจะส่งทหารไปประจำในยูเครนหรือไม่ บอกแค่ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ยูเครนจะต้องอยู่ในสถานะแข็งแกร่งที่สุด
.