กรมโยธาธิการและผังเมือง เน้นย้ำ “มาตรการป้องกันฝุ่น” ก่อสร้างอาคาร ร่วมเดินหน้าเร่งแก้ไข PM 2.5
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมโยธาธิการและผังเมือง กำชับ “มาตรการป้องกันฝุ่นละออง” รับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองที่มีการก่อสร้างอาคารสูงหนาแน่น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง โดยเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการฯ อย่างเคร่งครัด เช่น การกันล้อมพื้นที่ก่อสร้าง การปิดคลุมวัสดุ และการฉีดพรมน้ำ เพื่อควบคุมการปล่อยฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น และการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้างอย่างจริงจัง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นอันดับต้น ๆ โดยมีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผา ในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ให้เป็นไปตามกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก ใช้กลไกและกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้ทุกหน่วยงานนำไปปรับใช้ เพื่อกำหนดมาตรการให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรม
จากปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามความเจริญของเมือง เนื่องด้วยมีการก่อสร้างต่าง ๆ มากมาย จนส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการออกกฎหมายควบคุมอาคาร จึงได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นหนึ่งในกฎหมายป้องกันฝุ่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร มีความครอบคลุมในเรื่องการฟุ้งกระจายของฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนถึงรถที่ใช้ขนวัสดุในการก่อสร้างอาคาร โดยเนื้อหาของกฎหมายเรื่องของฝุ่นละอองมีดังนี้
การก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10.00 เมตรขึ้นไป ที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอก ถึงที่สาธารณะหรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคารนั้น หรืออาคารซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ผู้ดําเนินการต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง ดังต่อไปนี้
(ก) กันล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง
(ข) กองวัสดุที่มีฝุ่นละอองต้องปิดหรือคลุมด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการฟุ้งกระจาย หรือเก็บไว้ในพื้นที่ปิดล้อมหรือฉีดพรมด้วยน้ำหรือวิธีการอื่นที่ป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
(ค) การขนย้ายวัสดุที่ทําให้เกิดฝุ่นละอองด้วยสายพานต้องปิดให้มิดชิด
(ง) การผสมคอนกรีต การไสไม้ การกระทําใด ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ต้องทําในพื้นที่ปิดล้อมหรือมีผ้าคลุม หรือใช้วิธีการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
(จ) มีการจัดการวัสดุที่เหลือใช้เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
(ฉ) ฉีดล้างล้อรถทุกชนิดด้วยน้ำก่อนนําออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้างเพื่อมิให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายและไม่ให้น้ำที่ใช้ในการฉีดล้างดังกล่าวไหลออกนอกบริเวณสถานที่
ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองมีความเกี่ยวข้องในหลายมิติ กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเท่านั้น ซึ่งยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอีกด้วย
กรมโยธาธิการและผังเมือง ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นอย่างมาก พร้อมจับมือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับบุคคล สังคม และนโยบายระดับประเทศ เพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น