ผู้ตรวจราชการจะต้องเข้าใจนโยบาย และเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ในคราวมอบนโยบาย เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ได้มีการกล่าวถึงปัญหาสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไขมี 9 ประการ ได้แก่
1. ปัญหาประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาหนี้สินนอกระบบ
2. ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศข้างเคียง คุณภาพของคนไทยในวัยทำงานลดลง
ในขณะที่การเข้าสู่สังคมสูงวัยและภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. ปัญหายาเสพติด เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2566
4. ปัญหาการพนัน และอาชญากรรมออนไลน์
5. ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น และกำลังซื้อลดลง
6. ปัญหาการปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technological Disruption) ทำให้เกิดการเสียเปรียบทางการค้า
7. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยว และเกิดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และฝุ่น PM2.5 โดยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาฝุ่นจากภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการคมนาคม
8. ปัญหาระบบราชการแบบรวมศูนย์
9. ปัญหาอันเนื่องจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หรือปัญหาความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ผลจากปัญหาท้าทายทั้ง 9 ประการ รัฐบาลจึงออกเป็นนโยบายเร่งด่วน 10 ประการ อาทิ การผลักดันการปรับโครงสร้างมาตรการช่วยเหลือ SMEs
มาตรการลดค่าพลังงาน การนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบาย Digital Wallet มอบเงินให้ผู้สูงอายุ การแก้ไขปัญหายาเสพติด
การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การแก้ไขปัญหาสวัสดิภาพและสวัสดิการของประชาชน เป็นนโยบายรัฐบาลที่สอดคล้องกับการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการ
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นโยบายสำคัญที่ต้องเร่งขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน 3 ประการ ได้แก่ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) และการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้า มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
เนื่องจากมีผลกระทบสำคัญต่อประชาชนและการพัฒนาประเทศ จึงกำหนดให้เป็นประเด็นการตรวจราชการแบบบูรณาการร่วมกันของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้ตรวจราชการกรม
โดยรัฐบาลมุ่งหวังที่จะใช้กลไกของผู้ตรวจราชการในทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการตรวจราชการในพื้นที่แทนรัฐบาล เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ชี้แจง แนะนำ ทำความเข้าใจ และเร่งรัด
ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลดังกล่าว และรับฟัง ทุกข์ สุข ของประชาชน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค
ซึ่งการรายงานของผู้ตรวจราชการจะเป็นข้อมูลสำคัญของรัฐบาลที่จะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาล ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น