สปสช.เผยสิทธิ “บัตรทอง” 2565 ดูแลโควิดครบวงจร-เพิ่มสิทธิโรคอื่น

สปสช.เผยสิทธิ "บัตรทอง" 2565 ดูแลโควิดครบวงจร-เพิ่มสิทธิโรคอื่น

วันนี้ (1 ต.ค.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงภาพรวมการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพปีงบประมาณ 2565 ว่า ปี 2565 อาจเป็นปีที่จะต้องอยู่กับโควิด-19 อีกระยะหนึ่ง ซึ่ง สปสช.ค่อนข้างมั่นใจว่าสิทธิประโยชน์ที่จัดสรรสำหรับโควิด-19 ค่อนข้างครบวงจร และตอบสนองสถานการณ์ได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจคัดกรอง

ในปี 2565 ก็จะมีกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบ Antigen test kit หรือการตรวจมาตรฐาน ขณะเดียวกัน เมื่อมีผลตรวจเป็นบวก สปสช.ก็มีความพร้อมมากขึ้นในการสนับสนุนการจัดระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน รวมถึงการดูแลเชียวยาภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากโควิด-19 แล้ว ในโรคอื่นๆ สปสช.ก็ยังคงเพิ่มเติมในเรื่องสิทธิประโยชน์และการจัดระบบงบประมาณให้ประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากการเจ็บป่วย ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้ จะมีการจัดหมวดงบประมาณให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น หลักๆคือในส่วนของงบเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จะมีการกำหนดชัดเจนว่าเป็นสิทธิสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ

จากเดิมที่อาจจะกำหนดไว้ไม่ชัดเจน รวมทั้งปรับระบบให้สอดคล้องกับผู้ใช้สิทธิอื่นๆที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองมากขึ้น เช่น การฝากท้อง อาจจะต้องเพิ่มหน่วยบริการ เพราะผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมอาจสะดวกในการไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ก็จะต้องประสานกับโรงพยาบาลให้มาเรียกเก็บเงินจาก สปสช.แทน หรือรายการตรวจสุขภาพประจำปีบางรายการจะต้องขยายบริการเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะกับผู้ประกันตนซึ่งสะดวกในการไปโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของงบกองทุนส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่ ก็จะมีการปรับหมวดหมู่ใหม่ จากเดิมที่รวมไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ปีนี้จะแยกหมวดออกมาชัดเจน ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานได้ชัดเจน มีการขยายขอบเขตความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น โดยงบประมาณส่วนนี้จะนำไปร่วมกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบูรณาการจัดกิจกรรมแก้ปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ โดย สปสช.ตั้งงบประมาณไว้ 2,800 ล้านบาท สำหรับสมทบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลนั้น จะเพิ่มเติมในหลายๆโรค ประกอบด้วย การคัดกรองโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งที่ผ่านมาเวลาไปรับบริการทันตกรรมอาจจะยังไม่ชัดเจนว่ามีการตรวจมะเร็งช่องปากให้หรือไม่ แต่ปีนี้ก็จะมีความชัดเจนในการตรวจมากขึ้น

อีกส่วนคือการเพิ่มสิทธิ์การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับเพื่อเป็นทางเลือกให้กับโรงพยาบาลต่างๆใช้ลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด โดยจะขยายสิทธินี้ในการผ่าตัดหลายรายการ

“การผ่าตัดวันเดียวกลับ หัตถการที่จะทำได้ส่วนหนึ่งต้องเป็นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผ่าตัดทางกล้อง การผ่าตัดโดยใช้เทคนิคพิเศษทำให้แผลเล็ก ปีนี้มีเพิ่มขึ้นมาหลายส่วน เช่น การส่องกล้องเข้าไปดูระบบทางเดินอาหาร เข้าไปดูถุงน้ำดี กรณีที่ต้องฉีดสารเข้าไปยังสายเส้นเสียงที่มีอาการบวม การผ่าตัดตกแต่งเยื่อเเก้วหูทะลุ หรือคนไข้โรคไตที่ต้องวางสายเพื่อเตรียมล้างไตทางหน้าท้อง อีกส่วนคือการผ่าตัดที่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายๆวัน ก็จะลดวันนอนลง ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้กล้อง เช่น ผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปในถุงน้ำดี ผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปทำเรื่องไต ฯลฯ รายละเอียดโรคต่างๆเรามีการสื่อสารในช่องทางของ สปสช.เพิ่มเติมต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ป่วยเบาหวาน ปี 2565 สปสช.จะเน้นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุน้อย หรือผู้ป่วยที่ต้องฉีดอินซูลินมากขึ้น โดยจะเพิ่มสิทธิ์เรื่องอุปกรณ์ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ผู้ป่วยตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน รวมทั้งอุปกรณ์ติดตามระดับน้ำตาลที่พกติดตัวตลอดเวลา

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งจะมีการพิจารณาเรื่องยาและมาตรฐานการรักษามะเร็งใหม่ ปีที่ผ่านมา สปสช.มีโครงการมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม ปีนี้จะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทุกสาขาพิจารณาว่ายาและเวชภัณฑ์ที่ให้ไป มีความพร้อมหรือต้องเพิ่มเติมอย่างไร เชื่อว่าผู้ป่วยจะเพิ่มการเข้าถึงยาที่จำเป็นมากขึ้น และกรณีผู้ป่วยลิ่มเลือดในสมองอุดตัน เดิมมีสิทธิการฉีดยาละลายลิ่มเลือด ปีนี้จะเพิ่มสิทธิในเรื่องการทำหัตถการที่ใช้สายสวนหรือขดลวดเพื่อช่วยทะลวงจุดที่อุดตันด้วย

“การเพิ่มสิทธิประโยชน์การบริการ สปสช.มองถึงความพร้อมของระบบบริการในพื้นที่ต่างๆ เช่น จะให้บริการผ่าตัดทางกล้อง ทุกพื้นที่ก็ต้องเข้าถึงบริการ ซึ่งตอนนี้ทั่วประเทศมีเครื่องมือ มีหมอที่มีความเชี่ยวชาญ สปสช.ก็ปรับระบบสิทธิประโยชน์เหล่านี้ อีกเรื่องคือการจ่ายเงินค่าบริการ เดิมยิ่งนอนนานยิ่งได้เงินเยอะ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าการที่ผู้ป่วยมานอนไม่กี่วันแล้วกลับ ค่าใช้จ่ายถึงแม้จะดูเหมือนจะน้อย แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการยังคงให้บริการตรงนี้เพื่อที่ประโยชน์สุดท้ายจะตกกับพี่น้องประชาชน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทิศทางในอนาคต สปสช.ยังคงหลักการว่าทำให้คนเข้าถึงบริการที่จำเป็นและไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ดังนั้นจะเห็นว่าบริการหลายอย่างที่ราคาแพง สปสช.ก็เพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ หรือแม้จะเป็นราคาถูกอย่างบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็ต้องกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการด้วย ทุกๆปี สปสช.จะต้องพิจารณาใน 2 ปัจจัยนี้เสมอ

ขอบคุณ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น