โฆษกปปง. ยันคดีแพ่งยังเดินหน้าต่อ แม้ศาลสั่งยกฟ้อง ‘ตู้ห่าว-พร้อมพวก 19 คน’

“โฆษก ปปง.” เผย แม้ศาลอาญายกฟ้อง “ตู้ห่าว และพวก 19 คน” คดีฟอกเงิน และยาเสพติด แต่คดีแพ่ง กรณีทรัพย์สินซึ่งเคยถูกยึดยังเดินหน้าต่อไป ไม่จำเป็นต้องยกตามกันโดยอัตโนมัติ

โฆษกปปง. ยันคดีแพ่งยังเดินหน้าต่อ แม้ศาลสั่งยกฟ้อง ‘ตู้ห่าว-พร้อมพวก 19 คน’

 

ข่าวที่น่าสนใจ

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.68) ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการ สำนักงานคดียาเสพติด 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายฮวง ไฮ่ เท่า จำเลยที่ 1 นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือตู้ห่าว เป็นจำเลยที่ 2 รวมกับพวกสัญชาติจีน ไทย กัมพูชาและบริษัทนิติบุคคล รวม 5 แห่ง มีจำเลยรวม 25 ราย ในความผิดข้อหาเรื่องยาเสพติด การฟอกเงิน และการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

 

กระทั่งศาลพิเคราะห์แล้ว ไม่พบพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงของโจทก์ที่ชี้ชัดได้ว่าจำเลยมารวมตัวกัน และกระทำการเข้าข่ายความผิดดังกล่าว รวมถึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยในความผิดฐานฟอกเงิน จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 19 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนี้มี นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือตู้ห่าว จำเลยที่ 2 และพันตำรวจเอกหญิง วันทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ อดีตภรรยาของนายตู้ห่าว จำเลยที่ 8 ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

 

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (12 ก.พ.) ทีมข่าว Top News ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังนายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. และในฐานะโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ถึงขั้นตอนมาตรการทางทรัพย์สินของผู้ต้องหา ซึ่งถูกคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมยึด และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ภายหลังศาลอาญายกฟ้องจำเลย ว่า สำหรับมาตรการดำเนินการกับทรัพย์สินตามกฎหมายของ ปปง. คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และการยกฟ้องในคดีอาญา จะแยกออกจากกัน

เนื่องด้วยการดำเนินการกับทรัพย์สินของ ปปง. คือการดำเนินการทางแพ่ง ย่อมไม่ผูกติดกับคดีอาญา ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าคดีมูลฐานศาลจะยกฟ้องก็ตาม ซึ่งหลักการดำเนินการกับทรัพย์สินนั้น ศาลแพ่งจะดูว่าทรัพย์สินดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไรบ้าง อีกทั้งการดำเนินการในคดีอาญา คือการกล่าวโทษบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือเป็นการนำผู้กระทำผิดเข้าเรือนจำ เพราะต้องมีหลักฐานว่าบุคคลนั้นๆ ได้กระทำความผิดจริง จึงแตกต่างจากมาตรการทางแพ่งของ ปปง. ที่ดูว่าทรัพย์สินดังกล่าวมันเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์เรื่องการค้ายาเสพติดหรือไม่ จึงขอยืนยันว่า แม้ว่าในคดีมูลฐาน ศาลจะยกฟ้องจำเลย แต่ในคดีทางแพ่ง ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการกับทรัพย์สินจะต้องถูกยกไปด้วย

ส่วนสิ่งที่จะทำได้ภายหลังคดีมูลฐานถูกยกฟ้องนั้น คือ หากบุคคลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้คัดค้านถูก ปปง. มีคำสั่งยึด และอายัดทรัพย์สินไว้ ก็อาจนำส่วนที่ศาลอาญายกฟ้องมาใช้ประโยชน์ หรือจะนำพยานหลักฐานใดมาใช้ต่อสู้ในคดีแพ่งก็ได้ ว่าทรัพย์สินที่ ปปง. ได้ยึด และอายัดไว้นั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีมูลฐาน โดยศาลแพ่งจะต้องดูด้วย ว่าเหตุผลที่ถูกยกฟ้องในคดีอาญา รวมถึงสิ่งที่ผู้คัดค้านได้นำเสนอเข้ามา มันมีความเพียงพอที่จะรับฟัง ทำให้ต้องยกในส่วนแพ่งไปด้วยหรือไม่ และหากรับฟังได้ ศาลแพ่งก็จะยกคำร้องของ ปปง. และของพนักงานอัยการ ทั้งนี้ จึงไม่ใช่การยกตามกันโดยอัตโนมัติ แต่มันแยกขาดจากกันระหว่างคดีอาญา และคดีแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งต้องมีการชั่งน้ำหนักดูพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา

โดยศาลแพ่งดูในเรื่องทรัพย์สิน และดูจากพฤติการณ์ในการสืบสวนประกอบกัน ดังนั้น การยึด และอายัดทรัพย์สินของ ปปง. ไม่ได้ยึดทรัพย์สินเฉพาะบุคคลเดียว แต่ยึดทรัพย์ในกลุ่มผู้ต้องหาเดียวกัน ดังคำว่า …..กับพวก หรือเรียกว่าเป็นการยึดทรัพย์สินในส่วนของผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ และศาลแพ่งจะเน้นในประเด็นว่ารายการทรัพย์สินนั้นๆ เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ และมีการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ ซึ่งคำว่า “มีการกระทำความผิดในคดีมูลฐานเกิดขึ้น” ไม่จำเป็นจะต้องมีคำพิพากษาว่าบุคคลใดถูกลงโทษในทางอาญา เพราะการมีความผิดมูลฐาน อาจจะมีพฤติการณ์เรื่องการสืบสวนก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. (นามสมมติ) นาย ข. (นามสมมติ) และนาย ง. (นามสมมติ) เคยมีประวัติพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แม้ทั้งหมดไม่เคยถูกจับกุมในคดียาเสพติดมาก่อนก็เป็นได้ แต่เมื่อศาลได้รับฟังจากพนักงานสอบสวน จนเห็นว่ามันมีพฤติการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดเกิดขึ้น ก็มาดูต่อว่าเมื่อมันเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ ถ้าใช่ ศาลก็จะสั่งให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้าไม่ใช่ ศาลก็จะยกไป

ทั้งนี้ โฆษก ปปง. ระบุว่า “ความผิดมูลฐานตามกฎหมายของ ปปง. เวลาส่งสำนวนเข้าสู่กระบวนการ มันไม่ได้เจาะจงเพียงคนสองคน แต่เราดูภาพรวมขบวนการทั้งหมด รวมถึงพฤติการณ์ภาพใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ในเรื่องนั้นด้วย”

 

 

นอกจากนี้ นายวิทยา ยังเปิดเผยด้วยว่า ภาพรวมในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และการฟอกเงินที่ผ่านมา ซึ่งผ่านกระบวนการดำเนินการทางทรัพย์สินตามกฎหมายของ ปปง. พบว่ามีหลายคดีที่หน่วยงานเกี่ยวข้องทำสำนวนรายการทรัพย์สินแล้วส่งมายัง ปปง. แต่ปรากฏว่าศาลได้ยกฟ้องในคดีมูลฐาน แต่ ปปง. มีการยึดทรัพย์สิน จึงเป็นใจความสำคัญ ว่าเหตุใดต้องมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพราะหลักในการรับฟังมันคนละส่วนกัน

โดยคดีอาญา หลักใจความคือ ต้องฟังให้สิ้นสงสัย ใช้วิธีการพิสูจน์แบบอาญาฟอกเงิน คือต้องสิ้นสงสัยว่าบุคคลนั้นๆ ได้กระทำผิดจริงหรือไม่จริง แต่หลักดำเนินการกับทรัพย์สินตามกฎหมายฟอกเงิน มันจะไม่ผูกติดกับคดีอาญา เพียงแค่นำเสนอให้ศาลเชื่ออย่างมีเหตุผลว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากพฤติการณ์การกระทำความผิดมูลฐานก็เพียงพอแล้ว

สำหรับคดีแพ่ง หรือการดำเนินการกับทรัพย์สินของนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ และพวก ยังคงอยู่ระหว่างกระบวนการของศาลแพ่ง กล่าวคือ ทรัพย์สินของพวกเขายังถูกยึด และอายัดตามกฎหมายของ ปปง.

ทั้งนี้ ทีมข่าวได้ตรวจสอบเอกสารคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.176/2567 เรื่อง ยึด และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) โดยสรุปใจความเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินรายคดีนายตู้ห่าว กับพวก ดังนี้ คำสั่ง ย.93/2566 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 15 รายการ พร้อมดอกผล รวมทั้งสิ้นประมาณ 34.1 ล้านบาท // คำสั่ง ย.141/2566 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 53 รายการ พร้อมดอกผล แบ่งเป็น รวมทรัพย์สินที่ยึดอายัด 34 รายการ รวมทั้งสิ้นประมาณ 14.9 ล้านบาท รวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 53 รายการ รวมราคาประเมินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 37.6 ล้านบาท

จากการตรวจสอบการทำธุรกรรม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานฟอกเงินในคดีดังกล่าว สำนักงาน ปปง. พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายตู้ห่าว และพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 46 รายการ ประกอบด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคล / ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง / และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าว อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 46 รายการ พร้อมดอกผลดังกล่าว ที่ ย.176/2567 ลงวันที่ 18 กันยายน 2567 รวมทรัพย์สินที่อายัดทั้งสิ้นจำนวน 44 รายการ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 18.2 ล้านบาท พร้อมดอกผล และรวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัดทั้งสิ้น จำนวน 46 รายการ รวมราคาประเมินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 46.1 ล้านบาท พร้อมดอกผล

อย่างไรก็ตาม ทำให้ทราบว่าในรายคดีของนายตู้ห่าว และพวก คณะกรรมการธุรกรรมได้ออกคำสั่งยึด และอายัดทรัพย์สินตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 3 คำสั่ง รวมราคาประเมินทั้งสิ้น 117.9 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เดือด! ทำไมแค่สั่งย้าย “ผู้การ” เอี่ยวเมียวดี เหยื่อมิจฯ 5 แสนคนข้องใจ-พร้อมบวก
โปรดเกล้าฯ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” นั่งประธาน ป.ป.ช.คนใหม่
"พม่า" ปิดทางขนน้ำมันเข้า "เมียวดี" เข้มกฎเหล็กขับรถไปไทยได้วันละเที่ยว สกัดตุนน้ำมัน
จนท.เข้มชายแดนจันทบุรี – ไพลิน หลังพบแก๊งคอลย้ายฐานฝั่งเมียวดี 10 กาสิโนใช้สัญญาณโทรศัพท์-เน็ตจากไทย
โฆษกปปง. ยันคดีแพ่งยังเดินหน้าต่อ แม้ศาลสั่งยกฟ้อง ‘ตู้ห่าว-พร้อมพวก 19 คน’
อ่านแล้วยิ้ม "หมอเหรียญฯ" โพสต์ข้อเสีย "บัตรทองแพลตตินัม" รพ.มงกุฏวัฒนะ" แต่พอเจอ 5 ข้อดี ผู้ป่วยรีบสมัครสมาชิกเลย
"เนทันยาฮู" ปลุกสงครามกาซา ระดมกำลังล้อมรอบ - "ฮามาส" กร้าวไม่ให้ค่าคำขู่
โดนทลายยกก๊วน ตำรวจคลองหลวงรวบ ‘โปเต้’ หุ้นส่วนบุหรี่ไฟฟ้า "พีม" มือสาดน้ำร้อน เจอของกลางในคอนโดฯ เกือบ 300 ชิ้น
"อดีตบิ๊กข่าวกรอง" เตือนสภาฯ อย่าปกป้องสส.ทำผิด ท้าส่งตัวตร.พิสูจน์ความจริง
รองผู้บังคับกองพัน "บีจีเอฟ" โต้กลับ 2 ข้อ ยัน "หม่องชิตตู" ไม่ได้ค้ามนุษย์ ลั่นเป็นเหยื่อหรือโจร รู้อยู่แก่ใจ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น