การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากภายหลังฝ่ายที่่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มส.ว.เริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยล่าสุดสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำความเห็นเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยสำนักกฎหมายฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นต้องมีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ถามประชาชนก่อนว่าต้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหมหรือไม่ ครั้งที่ 2 (ถ้าผ่านครั้งที่ 1) นำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่เสนอแก้มาตรา 256+เพิ่มหมวด 15/1 เสนอที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถ้าสภาเห็นชอบแล้ว จึงไปทำประชามติอีกที
ครั้งที่ 3 (ถ้าผ่านครั้งที่ 2) ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่วมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอต่อรัฐสภาพิจารณาแล้วจึงทำประชามติ
ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 221 วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานรัฐ” ซึ่งความเห็นหลักฝ่ายนี้มีการอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18- 22/2555 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยกลางของศาล (มิใช่คำวินิจฉัยส่วนตน) ตามที่วินิจฉัยว่า”…รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” มาเป็นหลักในการพิจารณา