วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่ง วันสารทไทย 2564 ตรงกับวันพุธที่ 6 ตุลาคม เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข และได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นการกระทำจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้ เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป และเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
โดยที่ตลาดสดเทศบาลเมืองสุรินทร์ วันนี้เป็นวันแรกที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเริ่มนำเครื่องเซ่นไหว้วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ มาวางจำหน่าย โดยได้จัดแบ่งเป็นชุดให้สะดวกในการเลือกซื้อและราคาที่ไม่แพงมาก ซึ่งนางสาวจันทร์เพ็ญ เสาแก้ว อายุ 52 ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ตนขายผลไม้ตามฤดูกาลและช่วงเทศกาลมากว่า 30 ปีแล้ว ในช่วงสถานการณ์ที่โควิดกำลังระบาดเช่นนี้ก็ขายของไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เมื่อถึงเทศกาลที่คนไทยจะต้องออกมาจับจ่ายเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในวันสารท กลับขายดีขึ้นกว่าวันปกติ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก แต่หากจะเทียบระหว่างช่วงวันเทศกาลในแต่ละปี ปีนี้ก็พอขายได้ แม้ว่ารายได้จะลดกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อยก็ตาม.
ภาพ/ข่าว กฤษดากร กีรติธำรงค์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุรินทร์