เปิดประวัติ “ปราสาทตาเมือนธม” กรมศิลปากรยันขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานของไทยตั้งแต่ปี 2478
ข่าวที่น่าสนใจ
ล่าสุด ทีมข่าวท็อปนิวส์ ได้ตรวจสอบประวัติความเป็นมาของประสาทตาเมือนธม ซึ่งพบว่า ปราสาทตาเมือนธม อายุเกือบ 1,000 ปี ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน
ในอดีตกลุ่มปราสาทตาเมือน ยังไม่มีความรับรู้ในเรื่องพรหมแดน มีแต่เพียงแนวทิวเขาพนมดงรัก เป็นพรหมแดนธรรมชาติที่กั้นผู้คนสองดินแดนไว้ ปราสาทตาเมือนธม อยู่ใกล้ดินแดนเขมรมากที่สุด การเข้าชมตัวปราสาทเข้าได้เฉพาะฝั่งไทยเท่านั้น ส่วนฝั่งกัมพูชาอาจเข้าถึงได้ยาก เพราะทางหลวงเก่าถูกป่าไม้กลืนกินหมด แล้วในช่วงกรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การถือครองปราสาทพระวิหาร การปะทะริมชายแดนขยายไปถึงตาเมือน ทำให้ต้องหยุดเข้าชมวิหารชั่วคราว หลังจากนั้นแรงกดดันมีมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปไกลกว่าทางเข้าหลักทางใต้เพียงไม่กี่เมตร โดยมีตำรวจตระเวนชายแดนประจำการตรงนี้ แต่นับตั้งแต่ พ.ศ.2553 ทางเข้าปราสาทฝั่งกัมพูชาเริ่มง่ายขึ้น เพราะมีการพัฒนาถนน
ทั้งนี้ พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ก็ได้ออกมายืนยันว่า พื้นที่ปราสาทตาเมือนธมอยู่ในดินแดนของไทย แต่พื้นที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ที่ยังปักปันไม่แล้วเสร็จ และฝ่ายไทยอนุโลมให้กัมพูชาขึ้นมาสักการะบูชาได้ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น.ทุกวัน แต่ต้องไม่แสดงออกสัญลักษณ์ใดๆ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551 พลตรีโป เฮง รองผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 และพันเอกเนียะ วงศ์ รองผู้บังคับกองพลน้อยที่ 42 กัมพูชา นำกำลังทหารกว่า 50 นายพร้อมอาวุธครบมือและสื่อมวลชนกัมพูชา ขอเข้าชมปราสาทตาเมือนธม แต่ถูกทหารพรานกองร้อยจู่โจมที่ 960 กรมทหารพรานที่ 26 กองกำลัง (กกล.) สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ของไทย ได้เข้าเจรจาให้ถอยร่นกลับไป พร้อมเพิ่มกำลังคุมเข้มปราสาทตาเมือนธม วางลวดหนามปิดกั้นทางขึ้นและบริเวณรอบปราสาท
8 กุมภาพันธ์ 2553 เกิดกระแสข่าวกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะขึ้นชมปราสาทตาเมือนธม ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่ากัมพูชาจะอ้างสิทธิพื้นที่ จนเกิดกรณีพิพาทซ้ำรอยปราสาทพระวิหาร นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกมายืนยันว่า ปราสาทตาเมือนธมอยู่ฝั่งไทย โดยกรมศิลปากรทำการสำรวจพบและขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานของไทยตั้งแต่ปี 2478 และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ซึ่งที่ผ่านมากรมศิลปากรได้บูรณะโดยทางการกัมพูชารับรู้มาตลอด ไทยยืนยันว่าพื้นที่ชายแดนจุดนี้เป็นของเรา โดยใช้แผนที่ตามหลักสากล ซึ่งแบ่งพื้นที่ตามหลักสันปันน้ำ
30 สิงหาคม 2567 ในโลกออนไลน์มีการแชร์ต่อๆ กันว่า กัมพูชายึดปราสาทตาเมือนธม ซึ่งต่อมาทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกองประมวลและวิเคราะห์ข่าว จากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
7 ตุลาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก อีซ้อขยี้ข่าว : อีซ้อ ได้ออกมาโพสต์คลิป ของเหล่าชาวบ้านและทหารกัมพูชา ที่ออกมายืนร้องเพลงชาติกัมพูชา หน้าปราสาทตาเมือนธม ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง