“พิชัย” สั่งการด่วน “กรมค้าภายใน” เตรียมชงนบข.เดินหน้าจัดตลาดนัดข้าวเปลือกแก้ปัญหานาปรัง เจอผลกระทบราคา

รมว.พณ.พิชัย สั่งการกรมการค้าภายในเตรียมจัดประชุมอนุ นบข.ด้านตลาด 20 ก.พ. 68 ก่อนชง นบข.พิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวนาเร่งด่วน คู่ขนานกับเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก ดีเดย์ จ.อยุธยา 16 – 20 ก.พ. และในพื้นที่ 20 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดึงราคาข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 100-200 บาทต่อตัน

“พิชัย” สั่งการด่วน “กรมค้าภายใน” เตรียมชงนบข.เดินหน้าจัดตลาดนัดข้าวเปลือกแก้ปัญหานาปรัง เจอผลกระทบราคา

 

ข่าวที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งตนเองเป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงเกษตรฯ และ พาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรัง ที่ได้รับผลกระทบด้านราคาข้าวขาวในตลาดโลก ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

 

 

นายพิชัย ระบุว่า “กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบทางด้านราคาด้วยเหตุจากสถานการณ์ที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับการที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้าข้าวด้วย ซึ่งทำให้ข้าวไทยได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ โดยผมสั่งการให้กรมการค้าภายในในฐานะฝ่ายเลขาฯคณะอนุกรรมการข้าวด้านการตลาด เร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งผมเป็นประธาน เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ นบข. พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปให้พี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด”

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน ผมได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินการคู่ขนานทันทีในการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.ปี 2568 เรามีแผนที่จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่ เป้าหมาย 8 จังหวัด คือ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา ตั้งเป้าว่าโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกจะช่วยดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ 100-200 บาท/ตัน โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้จัดตลาดนัดครั้งที่ 1 ในวันที่ 16-20 ก.พ.68

ซึ่งการจัดตลาดนัดข้าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เร่งดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งข้าวนาปรังทยอยออกสู่ตลาด และจะได้ประสานชาวนาในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนกำหนดจุดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้ตรงกับปริมาณผลผลิตที่ออก และช่วงเวลา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

 

สำหรับสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือน ก.พ. 68 โดยจะออกกระจุกตัวช่วง มี.ค. – เม.ย. 68 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 ก.พ. 68 อยู่ที่ 8,300 – 9,000 บาท/ตัน (เฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงเทียบกับ ปีก่อนที่ 12,500 บ/ตัน หรือลดลง30%) ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 67 เป็นต้นมา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ

 

รวมทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าลดลงจากการเก็บสต๊อกที่เพียงพอแล้ว ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากไทยชะลอตัว จึงได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 2565 ช่วงก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าว

 

สำหรับสถานการณ์ราคาปัจจุบัน (14 ก.พ. 68) ของข้าวชนิดอื่นๆ ยังคงทรงตัว แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน (ลดลง 0.4%) ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน (ลดลง 16%) และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,700 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,500 บาท/ตัน (ลดลง 30%)

 

 

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า เห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องราคาข้าวเปลือกเจ้าตกต่ำลดลงจากสถานการณ์ตลาด แต่ก็ไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วยที่พี่น้องเกษตรกรจะมาประท้วงโดยการปิดถนนเพื่อกดดันภาครัฐ เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวมซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง โดยสมาคมฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงความเดือดร้อน และแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าว

 

ทั้งนี้สมาคมฯได้ผลักดันให้มีการเสนอมาตรการผ่านทางคณะกรรมการแล้ว โดยวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ทางสมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล รมว.กระทรวงพาณิชย์ และ รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
สำหรับเรื่องปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา ที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ500บาท ก็ได้เสนอให้ภาครัฐได้ช่วยเหลือเช่นกัน ในคราวเดียวกัน

ในเบื้องต้นทางกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งว่าจะมีการประชุมอนุตลาด นบข เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ รวมถึงจะมีมาตรการให้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกในจังหวัดที่มีปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

วธ. จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลหลักเมือง เนื่องในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”
สถาบันเหล็กฯ ออกแถลงการณ์ โต้ทนาย "ซินเคอหยวน" ยันเครื่องทดสอบเหล็กแม่นยำ ถูกต้องตามมาตรฐานทุกอย่าง
Watt-D แจ้งเตือน ระวัง "มิจฉาชีพ" แอบอ้างเป็นพนักงาน PEA หลอก Add LINE
ทั่วโลกร่วมไว้อาลัยโป๊ปฟรานซิส
“หมอปลาย” ทักแรง! ภาคอีสานระวัง “ภูเขาไฟ” ดับไปแล้ว กำลังจะตื่นอีก
“นาซา” เผยข้อมูลช็อก! แผ่นดินพม่าเคลื่อนตัว 6 เมตร จ่อปรับผังเมืองเนปิดอว์
ผวาชักศึกเข้าไทย! “พม่า KNU” เหิมหนัก โบกธงฉลองในแผ่นดินไทย
ปภ.จับมือ "3 ค่ายมือถือ" ทดสอบส่งข้อความเตือนภัย พ.ค.นี้
"นายกฯ" นำเปิดโครงการ "SML ส่งตรงโอกาสถึงชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน" เน้นผลสำเร็จเริ่มจากยุคไทยรักไทย
เซเว่น อีเลฟเว่น ชวนคนไทยร่วมเปลี่ยนแปลงโลก ในวัน Earth Day 2025 ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดการใช้พลังงาน ในธีม“พลังของเรา โลกของเรา”เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น