“นิสิตจุฬาฯ” คว้าชัย “CP CUP” หลังประชันเกือบ 2 หมื่นทีมไทย-จีน สร้างแผนธุรกิจ New S-Curve นานาชาติ ประธานอาวุโส ธนินท์ ย้ำนโยบาย “ซีพี” สร้าง Action-Based Learning สู่การศึกษาของเยาวชน

กดติดตาม TOP NEWS

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดเวทีแข่งขันแผนธุรกิจระดับนานาชาติ “CP CUP 2024-Business Idea to Action” แก้โจทย์ทางธุรกิจจริงรอบสุดท้าย โดยทีม CHILL GUY จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ “CP CUP Grand Prize Winner” หลังขับเคี่ยวแข่งขันจาก 18,749 ทีม คว้ารางวัล 50,000 บาท พร้อมสิทธิ์เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน และโอกาสร่วมงานพิเศษกับเครือซีพี  โดยมีคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ คณะกรรมการตัดสินภายนอกจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ตลอดจนนิสิตนักศึกษาจากทั้งประเทศจีน และไทยเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีกับผู้ร่วมเข้าแข่งขันทุกทีม ที่แสดงความตั้งใจนำเสนอ และแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการประกวดครั้งนี้ โดยระบุว่า การแข่งขันนี้นับความมุ่งมั่น และตั้งใจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการสร้างคนรุ่นใหม่ ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่ต้องอาศัยการระดมความรู้ และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาทั้งสองประเทศต่อยอดเครือข่ายในอนาคต

“สังคมปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสังคมเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือ หากเราตามไม่ทัน ประเทศ เศรษฐกิจ และประชาชนจะมีปัญหา การแข่งขัน CP CUP ในวันนี้จึงตอกย้ำการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ เข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกับสังคม ผ่านมุมมองทางธุรกิจ ในการเรียนรู้ เผชิญปัญหา และแก้ไขปัญหาจริง (Action-Based Learning) สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กับใบปริญญา” นายธนินท์ กล่าว

 

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ระบุว่า “CP CUP” เป็นโครงการที่สะท้อนความเชื่อของเครือซีพีในพลังของคนรุ่นใหม่ เราอยากให้นักศึกษาได้สัมผัสกับประสบการณ์ทำงานในโลกธุรกิจจริง ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นจากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

“สิ่งที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองในมิติที่หลากหลาย ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และการเปลี่ยนไอเดียให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าทำ และพร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว

นางสาวณัฐสิณี บุญช่วยธนาสิทธิ์ นิสิตชั้นปีที่ 1 สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนทีม CHILL GUY ประเทศไทย ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ “CP CUP Grand Prize Winner” ระบุว่า แผนธุรกิจของทีมใช้จุดแข็งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะครัวของโลก บวกกับแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างแผนธุรกิจเกี่ยวกับอาหารในรัสเซีย ที่เผชิญปัญหาการขนส่ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ในนามของทีมรู้สึกภูมิใจ เพราะใช้ระยะเวลากว่า 3 เดือนระดมสมองกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นคุโณปการที่การแข่งขันครั้งนี้เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอแนวคิดทางธุรกิจจริง

“เวทีนี้ให้ประสบการณ์ที่สำคัญ คือ การเรียนรู้ และลงมือทำของจริง นับเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราได้เก็บเกี่ยวสำหรับต่อยอดการเรียน และการทำงานในอนาคต นอกจากนี้เวทีการแข่งขันที่ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้อีกด้วย” นางสาวณัฐสิณี กล่าว

ทั้งนี้การแข่งขัน “CP CUP” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ 9 โดยริเริ่มจากประเทศจีนในปี 2559 และปี 2567 เป็นปีแรกที่จัดระดับนานาชาติ มีนิสิตนักศึกษาประเทศไทย และจีนเข้าร่วม 60,664 คน แบ่งเป็น 18,749 ทีมและผลงาน สรรสร้าง และประชันแผนธุรกิจแบบ New S-Curve เพื่อแก้โจทย์จริงของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ โดยในรอบสุดท้ายมีทีมเข้ารอบจำนวน 4 ทีม แบ่งเป็น ทีมจากประเทศไทย 2 ทีม ได้แก่ ทีม CHILL GUY จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งนำเสนอแผนธุรกิจในรัสเซีย ได้รับรางวัลชนะเลิศ  “CP CUP Grand Prize Winner” และทีม CAP จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มุ่งนำเสนอแผนธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัล Pioneer Spirit Award และทีมจากประเทศจีน 2 ทีม ได้แก่ทีม Create Me และทีม Dream Dragon ทั้ง 2 ทีมเกิดจากการรวมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัย 14 แห่งในประเทศจีน อาทิ Central South University China Agricultural University Guizhou University เป็นต้น มุ่งนำเสนอแผนธุรกิจในอินเดีย ได้รับรางวัล Pioneer Spirit Award  ทั้งหมดได้นำเสนอ ตอบคำถาม  และรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ ตลอดจนคณะกรรมการตัดสินภายนอก โดยมีเกณฑ์การตัดสินใจ อาทิ นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล กลยุทธ์การตลาด เป็นต้น

การแข่งขัน “CP CUP” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากจะส่งเสริมบทบาทนิสิตนักศึกษาให้เรียนรู้ธุรกิจผ่านการปฏิบัติจริง (Action Based Learning) ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนในระดับนานาชาติ เพื่อต่อยอดความร่วมมือในอนาคต ตามแนวทาง 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ ประโยชน์ต่อชาติ ประชาชน และองค์กร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น