เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการ กคพ.ในช่วงบ่ายวันนี้เพื่อพิจารณารับคดีฮั้ว ส.ว.เป็นคดีพิเศษว่า คณะกรรมการ กคพ.มี 22 คน สามารถนำคดีอาญาเป็นคดีพิเศษได้ โดยต้องใช้มติ 2 ใน 3 คือ 15 คน โดยคณะกรรมการ กคพ.มีความเป็นอิสระ ยึดเกณฑ์ทั้งในส่วนของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม
พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ส่วนในประเด็นดังกล่าวมี 2 ส่วน ส่วนแรก มีการสอบสวนเป็นความผิดอาญาอื่น เช่น กรณีมีการกล่าวหา ซึ่งไม่ได้กล่าวหา ส.ว. แต่เป็นการใช้ภาษากฎหมาย เป็นอั้งยี่ คือเป็นสมาชิกคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการเพื่อกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย และผู้เป็นหัวหน้าของอั้งยี่ หากเป็นอั้งยี่ธรรมดา โทษ 7 ปี ถ้าเป็นคณะอั้งยี่ หรือกรรมการ โทษ 10 ปี แต่ถ้าเป็นอั้งยี่ที่รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเรียกว่าซ่องโจร ยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหาใคร แต่เป็นภาษาของประมวลกฎหมายอาญาที่มีมานานแล้ว และยังบังคับใช้อยู่
พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า การเลือกเพื่อให้ได้มาต้องไปดูกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต.ระบุว่ามีความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งมีอยู่ 6 ฉบับ ขณะที่ กกต.ต้องปฏิบัติตามระเบียบ จะมีในเรื่องหมวดการสอบสวน โดยมอบให้หน่วยงานอื่นคือตำรวจ หรืออัยการ เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องเนื้อหา เนื่องจากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเลือก ส.ว.ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณไป 1.5 พันล้านบาท และอำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการดีต่อ ส.ว.ว่าเมื่อถูกกล่าวหาว่าการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ กคพ.จึงจะไปดู
“วันนี้จึงให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำพยานหลักฐานให้คณะกรรมการ กคพ.ดูอย่างตรงไปตรงมา แต่เนื่องจากการประชุมเป็นความลับ โดยเฉพาะบุคคลที่มาเป็นพยาน ซึ่งมีหลายคนต้องคุ้มครอง หลายคนรู้เห็นในองค์กรอาชญากรรม คนที่มาเป็นพยานพูดเองว่ารู้เห็นในองค์กรการกระทำผิดครั้งนี้” พ.ต.อ.ทวีกล่าว