สธ. เตือน “ไข้หวัดใหญ่” ป่วยแล้ว 1.3 แสนราย ตาย 12 ราย จับตาเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ย้ำวัคซีนใช้ได้ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 131,826 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 0-4 ปี และ กลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคเหนือ (258.44) รองลงมา คือ ภาคกลาง (222.48) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (175.88) และภาคใต้ (138.85)
นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 10 จังหวัดแรก ได้แก่ พะเยา (638.55) ลำพูน (591.61) เชียงราย (469.88) ภูเก็ต (456.36) เชียงใหม่ (443.04) ลำปาง (374.70) น่าน (341.83) กรุงเทพมหานคร (331.85) อุบลราชธานี (301.93) และนนทบุรี (290.59)
โดยแนวโน้มผู้ป่วยรายสัปดาห์ในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2567) ในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 1.6 เท่า และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี โดยปี 2567 พบผู้ติดเชื้อทั้งปีรวม 668,027 ราย เสียชีวิต 51 ราย สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ AH1N1 (2009)
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหากป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน มีอาการรุนแรง และนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้มีโรคประจำตัว ผู้เป็นโรคอ้วน หญิงมีครรภ์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต และควรดูแลสุขภาพ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หรือหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน 3-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
“ส่วนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอาการรุนแรงจากโรค เน้นในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1. เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
2. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
3. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
4. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
5. ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 6.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน 7. หญิงตั้งครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.ภาณุมาศ กล่าว