วันนื้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง โควิด 19 ความหวังภูมิคุ้มกันหมู่ herd immunity ใน โรคโควิด 19
โดยประเด็นสำคัญ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ระบุว่า ความหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับโรคโควิด 19 ในระยะเริ่มแรกที่มีวัคซีน คาดการณ์กันว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 70 ก็จะหยุดการระบาดของโรคได้ แต่ความเป็นจริง ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถใช้ได้กับโรคโควิด 19 เช่น สิงคโปร์ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 80% โรคก็ยังระบาดอยู่ อิสราเอลก็เช่นเดียวกัน เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ แต่ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง ไวรัสเองยังเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่จะหลบหลีกต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ถ้ามีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน
เมื่อติดเชื้อ อาการจะลดน้อยลงหรือไม่มีอาการ การติดเชื้อครั้งแรกในคนที่ไม่มีภูมิต้านทานจะรุนแรงที่สุด และจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อในครั้งต่อไปให้มีอาการลดน้อย และจะลดน้อยลงเรื่อยๆจนเป็นเหมือนโรคทางเดินหายใจแบบปกติ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญทุกคนจะต้องมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น เกิดได้จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีน และเมื่อมีการติดเชื้อเมื่อมีภูมิต้านทาน อาการก็จะน้อยลงหรือไม่มีอาการ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ระบุอีกว่า ในอนาคตการพัฒนายามาช่วยในการรักษาหรือลดอาการของโรคลงอีก ก็จะเป็นวิธีที่ช่วยเสริมลดความรุนแรงลง เราจะอยู่ด้วยกันกับไวรัสเช่นไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่น และต่อไปโรคนี้จะเป็นในเด็ก และมีอาการน้อย ไม่สามารถจะกวาดล้างให้หมดไปได้ ทุกคนควรได้รับวัคซีน ให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง ด้วยการฉีดวัคซีนทุกคน