นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กบอ. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจักรพล แสงมณี ที่ปรึกษาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในคลับเฮาส์ หัวข้อ “น้ำท่วม 64 กับ 10 ปีที่สูญเปล่า” ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำท่วมในปี 2554 ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยนายปลอดประสพ กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่รุนแรง โดยน้ำท่วมในปี 2554 ปัญหาที่หนักกว่าวันนี้ถึง 5 เท่า แต่สามารถบริหารจัดการจนฟื้นคืนประเทศในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแผนการจัดน้ำ 6 โมดูลในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ถือเป็นสมบัติของชาติไทย โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแม้แต่บาทเดียว โดยกำหนดให้จับคู่บริษัทก่อสร้างและออกแบบ จนในที่สุดได้บริษัทจากหลากหลายประเทศเข้าประมูล และได้บริษัทที่ชนะการประมูลแล้ว เหลือเพียงการเรียกทำสัญญา แต่สุดท้ายโครงการถูกชะลอ เพราะมีผู้ร้องฟ้องศาล ทำให้เสียเวลา 10 เดือนจนถูกรัฐประหาร และยกเลิกแผนงานในที่สุด ทั้งนี้หากแผนจัดการน้ำ 6 โมดูลได้ทำ แผนงานนี้กำหนดใช้เวลา 5 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2562 หากแผนนี้ทำเสร็จสิ้นน้ำจะไม่ท่วมชัยภูมิ เพราะจะมีเขื่อนกั้นในแม่น้ำชี สามารถควบคุมปริมาณในแม่น้ำยมได้ โดยไม่ต้องกังวลปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักเพียงจุดเดียว จะไม่เกิดน้ำท่วมในอยุธยา เนื่องจากสามารถควบคุมน้ำปิง วัง ยม น่าน ได้ และจะควบคุมน้ำในเขื่อนแม่วงก์ คุมน้ำสะแกกัง ประชาชนในภาคกลางและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลน้ำท่วม
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ได้แนะรัฐปัดฝุ่นสานต่อ ประเทศไทยจะได้ไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงแบบวันนี้
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบย้อนกลับไปของทีมข่าวท็อปนิวส์พบว่า โครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ที่นายปลอดประสพระบุถึงนั้น รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้แบ่งโครงการน้ำออกเป็น 9 โมดูล 10 โครงการ อาทิ โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง, ยม, น่าน, สะแกกรัง และป่าสัก ,โมดูล A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา ,โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ ,โมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ
ผลการประมูล บริษัท โคเรีย วอเตอร์รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ เค-วอเตอร์ ชนะ 2 โมดูล ,บริษัทร่วมทุน ITD POWER CHAINA JV ชนะ 5 โมดูล ,กิจการรว่มค้า ซัมมิท เอสยูที ชนะ 1 โมดูล ลักลุ่มบรัทค้าร่วมล๊อกซเล่ย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเค-วอเตอร์กบักลุ่มอิตาเลียนไทย ชนะ 2 โมดูล
อย่างไรก็ตามระหว่างการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมีนายปลอดประสพเป็นผู้คิดค้นแผนบริหารจัดการน้ำ ได้ถูกหลายภาคส่วนวิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากแต่ละแผนงานโครงการไม่มีความชัดเจน โครงการเป็นไปในลักษณะการดำเนินงานแบบทำไป ศึกษาไป แก้ปัญหาไป ไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชน จนเกิดการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลมีคำพิพากษาให้รัฐบาลต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนลงนามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง รวมถึงโครงการก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าการใช้วิธีออกพระราชกำหนดเงินกู้ อาจหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ แม้แต่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานางสาวยิ่งลักษณ์ ยังลาออกจากคณะกรรมการ กบอ. เพราะเห็นว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างหนัก และจะสูญเสียทรัพย์ของแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีเอกชนถอนตัวจากการประมูลหลายราย เช่น กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ หรือ กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย
อีกทั้งบริษัท เค วอเตอร์ ที่ชนะในการประมูลใน 2 โมดูล ยังถูกสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี แฉข้อมูลว่า บริษัทไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในโครงการขนาดใหญ่เลย และยังมีผลงานที่ย่ำแย่มาแล้วภายในประเทศตัวเอง เช่น การก่อสร้างโครงการสร้างฟลัดเวย์คลองกังงิน ซึ่งเป็นการสร้างคลองเพียง 18 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ลึก 6 เมตร แต่กลับไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการก่อสร้างที่ล้มเหลวหลายโครงการ ทำให้บริษัทเค วอเตอร์มีหนี้สินพุ่งสูงขึ้นถึง 758 เปอร์เซนต์ ส่งผลให้ขณะนั้นบริษัทมีเงินพร้อมสำหรับการลงทุนเพียง 304,000 ล้านบาท แต่กลับสามารถชนะการประมูลการก่อสร้างงานยักษ์ในประเทศไทยได้
นอกจากนี้ต่อมายังปรากฏภาพถ่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เข้าพบกับผู้บริหารของบริษัท เค วอเตอร์ ที่เกาหลีใต้ ทำให้ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เค วอเตรอ์ ในการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำหรือไม่