คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป หรือ อียู เปิดตัวคู่มือที่ประกอบด้วยมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม 30 ข้อ ภายใต้ ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อม ( Preparedness Union Strategy) มุ่งยกระดับการเตรียมความพร้อมของประชาชน รับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตั้งแต่ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการถูกโจมตีไซเบอร์ หรือสงคราม พร้อมเน้นย้ำผู้คนในยุโรปต้องปรับวิธีคิด หันมาสนับสนุนวัฒนธรรมการเตรียมพร้อม และการฟื้นตัว
อียูเรียกร้องประเทศสมาชิก สร้างหลักประกันว่าประชาชนในประเทศ จะต้องมีอาหารและข้าวของเครื่องใช้ในยามฉุกเฉินเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอย่างต่ำ 72 ชั่วโมง ในกรณีถูกตัดขาดจากบริการจำเป็น เช่น อาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย น้ำขวด ไฟฉาย ไม้ขีด แบตเตอรี่ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และเอกสารสำคัญในถุงกันน้ำ นอกจากนี้ ประชาชนยังควรเข้าถึงวิทยุคลื่นสั้น เผื่อไฟดับหรือการสื่อสารขัดข้อง
อียู ยังวางแผนที่จะสร้างแหล่งสำรองเชิงยุทธศาสตร์สำหรับทรัพยากรสำคัญ เช่น เครื่องบินดับเพลิง การขนส่งทางการแพทย์ โรงพยาบาลสนาม และคลังอุปกรณ์ป้องกันสำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ ตลอดจนสำรองวัตถุดิบเพื่อให้การผลิตอุปกรณ์ยุทธศาสตร์เดินหน้าต่อไปได้
อันที่จริง มีสมาชิกอียูหลายประเทศ พัฒนาคู่มือแบบเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน และล่าสุด ฝรั่งเศส ที่แนะนำให้พลเมืองมีข้าวของเครื่องใช้เพียงพอในเวลา 72 ชั่วโมงเช่นกัน เจ้าหน้าที่อียู กล่าวว่า แผนการของคณะกรรมาธิการอียู จัดทำขึ้นเพื่อประสานแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกันทั่วทั้ง 27 ประเทศสมาชิก เพื่อให้แน่ใจว่า “ทุกคน ในทุกระดับ มีคู่มือเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำ เมื่อสัญญาณไซเรนดังขึ้น”
การยกระดับความร่วมมือระหว่างภาคพลเรือนและทหารในยามวิกฤติ ก็เป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับต้น ๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการอียู จะวางกรอบการเตรียมพร้อมร่วมระหว่างพลเรือนกับกองทัพ เพื่อกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบให้ชัดเจน และต้องการให้จัดการฝึกซ้อมรับมือสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้หลักปฏิบัติดีที่สุด เจ้าหน้าที่อียูคนหนึ่ง กล่าวว่า เรามีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมากมายว่า ภัยคุกคามแบบไหนที่จำเป็นต้องเตรียมพร้อม เช่น การก่อวินาศกรรม แคมเปญข่าวลวง และโจมตีไซเบอร์
ฮัดจา ลาห์บิบ กรรมาธิการด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรม และการจัดการวิกฤติของอียู กล่าวว่า ภัยคุกคามที่ยุโรปเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ซับซ้อนมากกว่าที่เคย และเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ตั้งแต่สงครามใกล้ชายแดน จนถึงภาวะโลกรวนและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นถี่ ๆ อียูจึงต้องคิดใหญ่ตามภัยคุกคามที่ใหญ่โตขึ้นพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เธอไม่ได้เอ่ยถึงรัสเซีย แต่ย้ำว่า สงครามยูเครน 3 ปี คุกคามความมั่นคงของยุโรป
อียูหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส โปแลนด์ และประเทศบอลติก ระบุตรง ๆ ว่า รัสเซีย เป็นภัยคุกคามโดยยกสงครามยูเครนว่าเป็นตัวอย่างความก้าวร้าวของรัสเซียต่อภูมิภาค และกล่าวหารัสเซียอยู่เบื้องหลังการโจมตีไซเบอร์ การปล่อยข่าวบิดเบือนและแทรกแซงการเมือง ขณะที่รัสเซียปฏิเสธหลายครั้งว่าไม่มีเจตนาโจมตีประเทศนาโตหรืออียู ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โต้ว่า คำกล่าวอ้างเหล่านี้ ไร้สาระ แค่ต้องการทำให้ประชาชนหวาดกลัวและเพิ่มงบทหาร ขณะที่กรรมาธิการจัดการภัยพิบัติอียู กล่าวว่า การเตรียมความพร้อม ไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกตื่น แต่เป็นเรื่องที่ควรทำในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอน