จากกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดในรอบ 100 ปี ขนาด 8.2 ความลึ 10 กม. ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกหลายระลอก ที่ เมืองมัณฑะเลย์ และ สะกาย ทางตอนกลางของเมียนมา
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน จำนวนอาฟเตอร์ช็อก หลังเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา รวมตั้งแต่เวลา 13.20 ของวันที่ 28 มี.ค. ถึงเวลา 06.00 น. จากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย รวม 77 ครั้ง อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงต่ำ หลายพื้นที่ของประเทศไทย แทบไม่รู้สึกถึงแรงสั่นไหว
ส่วน ความเสียหายของแผ่นดินไหวในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ ที่ทำให้ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ (สตง.) ความสูง 30 ชั้น มูลค่ากว่า 2,136 ล้านบาท ถล่ม นั้น โครงการดังกล่าวเป็นกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด
เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะกับในจีน ชาวเน็ตจีน ได้ติดตามข่าวใน เว่ยป๋อ จนขึ้น ฮอตเสิร์ช โดยหนึ่งในโพสต์ที่ได้รับความสนใจนั้น เป็นข้อสังเกตจากชาวเน็ต ที่รายงานเรื่องตึก สตง. แห่งใหม่ เป็นบริษัทร่วมทุนกับ China Railway 10 ทั้งยังได้นำเนื้อหาของบทความ ที่รายงานความคืบหน้าการสร้างตึกดังกล่าวด้วย โดย ชาวเน็ต ต่างเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ ว่า “เริ่มแล้วใช่ไหม” … ส่วนอีกรายบอกว่า “สะพานที่ถล่มในพม่า ก็สร้างโดยจีนเช่นกัน”
ขณะที่ ชาวญี่ปุ่น ได้โพสต์คลิป ใน X ระบุว่า มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศไทย แจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่ก็มีคนเข้าไปโพสต์ภาพตึก และข้อความเป็นภาษาจีนว่า “ทำในจีน”
โดยหลายคนชี้ว่า ทั้งเมืองกรุงเทพ มีตึกสูงตั้งหลายร้อยตึก แต่กลับมีแค่ ตึก สตง. หลังนี้ที่ถล่ม พร้อมตั้งคำถามถึงมาตรฐานงานก่อสร้าง และความโปร่งใสของโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล
ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้ บริษัท China Railway No.10 Engineering Group เคยคุยว่า โครงการก่อสร้างฯนี้ เป็นผลงานสุดภาคภูมิใจ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัท โดยให้ฉายาอาคารแห่งนี้ว่า เป็น “นามบัตรใบแรกของบริษัทฯ ในประเทศไทย” และเป็นผลงานแสดงศักยภาพของวิศวกรรมจีนในตลาดต่างประเทศ
แต่หลังจากเกิดเหตุ ตึก สตง. พังถล่ม กลับพบว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เคยเผยแพร่เกี่ยวกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ รูปภาพระหว่างการก่อสร้าง หรือข้อความแสดงความชื่นชมในผลงานบริษัทจีนบนหน้าสื่อจีน ถูกลบออกจากระบบออนไลน์จนเกลี้ยง ไม่ทิ้งร่องรอยปรากฏในช่องทางสื่อสังคมของบริษัทอีกต่อไป
ทั้งนี้ อาคารดังกล่าว เพิ่งจัดพิธีฉลองการก่อสร้างถึงชั้นสูงสุด เมื่อเดือนเมษายน 2567 โดยมีการแขวนผ้าผืนใหญ่ พร้อมข้อความแสดงความยินดีเป็นภาษาจีน
ขณะเดียวกัน เพจเฟสบุ๊ก คิวริออส’ซิที Curiosity Channel คนช่างสงสัย โพสต์ข้อมูลอธิบาย … ที่เห็นหลายคนโพสต์ว่า เมื่อเจอแผ่นดินไหว ทำไมตึกเก่า ๆ ไม่ร้าวเลย แต่ตึกใหม่ ๆ กลับร้าว ตึกใหม่ๆ ไม่แข็งแรงหรือเปล่า …..
ไม่ใช่ครับ >> มาตรฐานการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหวใหม่ ๆ ตั้งแต่ช่วง 2550 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้วิศวกรต้องออกแบบตึกให้มีความ “เหนียว” ในการรับแผ่นดินไหว …. ก่อนจะไปพูดถึงความเหนียว เรามาพูดสิ่งที่ตรงข้ามกันก่อน ซึ่งก็คือ “ความแข็ง”
สิ่งที่แข็ง มันจะตามมาด้วยความเปราะเสมอ หรือก็คือ ถ้ามันพัง มันจะพังอย่างฉับพลัน ไม่มีการเตือนใด ๆ / เหมือนกับเราพยามหักดินสอ ดินสอมันหักทันที ไม่มีการร้าวก่อน หรือที่วิศวะเรียกว่า “วิบัติแบบทันที” ซึ่งมันจะอันตรายมาก ไม่มีการเตือนก่อนใด ๆ จากตึกดี ๆ นิ่งๆอยู่ ถ้ามันรับแรงไม่ไหว มันจะพังอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัย “หนีไม่ทัน”
แต่อาคารที่เหนียวตามมาตรฐานการออกแบบสมัยใหม่ ถ้าเจอแรงแผ่นดินไหว มันจะโยกง่ายกว่า แอ่นตัวง่ายกว่า แต่จะยังไม่พังหักพับลงมา เหมือนเราจะพยายามบิดไม้บรรทัดพลาสติก ซึ่งนั่นทำให้เกิดรอยร้าวตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร โดยเฉพาะผนัง ซึ่งรอยร้าวนี่แหละคือสัญญาณเตือนให้ผู้อาศัยรับหลบหนีออกจากอาคาร นั่นเองครับ
และการมีรอยร้าว ไม่ได้ทำให้ตึกอ่อนแอกว่าการไม่มีรอยร้าวนะครับ จริงๆแล้ว มันอาจแข็งแรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะมันโยกไปโยกมาได้ มันจะสลายแรงแผ่นดินไหวให้กลายเป็นแรงในการโยกแทน ในขณะที่อาคารแบบแข็งเกร็ง จะสะสมแรงแผ่นดินไหวให้กลายเป็น Stress ในองค์อาคาร ถ้าสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ไหว มันจะพังอย่างฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน นึกภาพต้นมะพร้าวเอนตามลม มันจะไม่หัก แต่ถ้ามันฝืนยืนแข็งทื่อ มันจะหักง่ายกว่าครับ
ดังนั้นการมีรอยร้าวหลังเกิดแผ่นดินไหวนั้น “ดีแล้ว” ถูกแล้ว ตรงตามมาตรฐานการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหวครับ ถ้าไม่มีรอยร้าวเลยสิ น่าคิด โดยเฉพาะตึกเก่าๆ ที่สร้างมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะออกแบบให้เป็นแบบ “แข็งเกร็ง” ครับ
ขอขยายความคำว่า “ถ้าไม่มีรอยร้าวเลยสิ น่าคิด” เห็นคนตีความกันผิด คือการไม่ร้าว แค่แปลว่า มันไม่โยกตัว ไม่มีสัญญาณเตือน ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรง ถ้ามันไม่พัง ก็คือแข็งแรงไง แต่ที่น่าคิด คือ ถ้าตึกสร้างหลังปี 2550 ไม่ร้าว ก็แปลได้ 2 แบบคือ แข็งแรงมาก ยังไม่ถึงจุดร้าวตามที่ออกแบบไว้ กับไม่ได้ออกแบบตามมาตรฐานที่ให้มีความเหนียว
ทำไมแอดมินรู้เรื่องนี้? คือผมสามัญวิศวกรโยธา จบโทด้านอาคารรับแผ่นดินไหว แบบสายตรงเป๊ะกับเรื่องนี้เลย และยังเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ใบอนุญาต บ.2879/2560 , เป็นวิศวกรอาเซียนเลขที่ 2664/2022 , เป็นวิศวกรเอเปค เลขที่ THA-01-00029 จริงๆ ไม่อยากจะเล่าหรอกว่าเรามีตำแหน่งงานอะไร เพียงแต่พอมันแมส มันจะมีคนประเภท บอกว่าเอ็งเป็นใคร ไม่รู้จริงอย่ามามั่ว เลยต้องขอใส่เครดิตนิดหน่อย
ปล. แต่ร้าว ไม่ได้แปลว่าไม่เสียหาย กลับเข้าไปนอนได้นะ ร้าวคือ “การแจ้งเตือน” ร้าวคือ “เสียหาย” นั่นแหละ แต่แค่ “ยัง” ไม่พังพับลงมา เป้าหมายในการทำให้แตกร้าว คือ้ตือนให้ผู้ใช้หนีเป็นเรื่องสำคัญ เอาชีวิตคนมาก่อน ไม่ใช่แปลว่า ร้าว=ตึกปลอดภัยกลับเข้าไปอาศัยได้ ยังไงก็ต้องให้วิศวกรมาประเมินความเสียหายและซ่อมแซมอยู่ดี ร้าวมากๆ ยังไงก็อันตรายอยู่ดี และไม่มีรอยร้าว ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรงนะครับ มันก็แข็งแรงแหละครับ แค่อาจไม่มีรอยร้าวเตือนก่อนเนิ่นๆ เท่านั้นเอง หรือแข็งแรงมาก จนยังไม่ถึงจุดที่มันจะร้าวตามที่ออกแบบไว้ ถ้าจะร้าว แผ่นดินไหวต้องแรงกว่านี้อีก แผ่นดินไหวแค่นี้จิ๊บๆ ก็เป็นได้ โดยโพสต์ดังกล่าว มีผู้ใช้เฟสบุ๊กเข้ามากดถูกใจแล้วกว่า 2 หมื่นครั้ง และร่วมแสดงความเห็นจำนวนมาก