วันที่ 2 เมษายน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกอย่างภูมิใจว่า “วันปลดแอก” หรือ Liberation Day” มาถึงแล้ว ท่ามกลางความกระวนกระวายใจของทั่วโลก ว่าสุดท้ายแล้ว แต่ละประเทศจะโดนเจ้าของตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้เท่าไหร่และอย่างไร ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครรู้รายละเอียด แต่ CNN ระบุว่า น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการค้ารุนแรงและหนักหน่วงที่สุด ของประธานาธิบดีที่หมกมุ่นกับภาษีศุลกากรมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ตามกำหนดการ ผู้นำสหรัฐฯ จะแถลงที่สวนกุหลาบทำเนียบขาว (White House Rose Garden) เวลา 16 นาฬิกา 2 เมษายนตามเวลาตะวันออกสหรัฐฯ ตรงกับเวลาประเทศไทย 3 นาฬิกาของวันพรุ่งนี้ ( 3 เมษายน) โดยเทียบเชิญจากทำเนียบขาว เรียกอีเวนต์นี้ว่า “Make America Wealthy Again Event” หรือทำให้อเมริกามั่งคั่งอีกครั้ง
แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงเมื่อคืนตามเวลาบ้านเรา ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังประชุมกับทีมงานด้านการค้าและภาษี เพื่อปรับปรุงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในขั้นสุดท้าย ให้แน่ใจว่านี่จะเป็นแผนการดีที่สุดสำหรับชาวอเมริกันและคนงานชาวอเมริกัน โดยหลังประกาศแล้ว มาตรการภาษีใหม่ จะมีผลบังคับใช้ทันที เร็วกว่าที่คาดการณ์กันก่อนหน้านี้ และหมายความว่าไม่มีเวลาให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้เข้าไปเจรจาต่อรองกันก่อนภาษีใหม่จะเริ่มใช้
โฆษกฯทำเนียบขาว กล่าวว่า “มีไม่กี่ประเทศ” ที่ต่อสายหาประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อพูดคุยเรื่องภาษี ก่อนหน้านี้ แต่ย้ำอีกครั้งว่า ประเทศเดียวที่ทรัมป์แคร์มากที่สุด ก็คือสหรัฐอเมริกา
CNN รายงานว่า ทรัมป์บอกนักข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ตัดสินใจแล้วว่า จะเลือกสูตรไหนในการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากคู่ค้าทั่วโลก ทำให้เจ้าหน้าที่วงในทำเนียบขาวหลายคนประหลาดใจ เพราะไม่รู้มาก่อนว่าทรัมป์ได้ข้อสรุปแล้ว ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากคู่ค้าเป็นรายประเทศ หรือแบบทั่วไปหรือเหมารวม ( universal tariff) ที่อาจสูงถึง 20% กับสินค้านำเข้าทั้งหมด ที่ปรึกษาของทรัมป์สนับสนุนนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ แต่หลังฉาก ยังเห็นแตกต่างกันว่าควรใช้แนวทางไหน
มีหลายแนวทางที่คาดว่าทรัมป์จะประกาศ แนวคิดหนึ่งคือ การเก็บภาษีตอบโต้ จะเริ่มจากประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ามากที่สุด 15 ประเทศ ที่รัฐบาลสหรัฐฯเรียกว่า เดอร์ตี้ ฟิฟทีน (Dirty 15) ซึ่งสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยอมรับว่า จะยกระดับสงครามการค้าอย่างมีนัยสำคัญ เพราะยักษ์เศรษฐกิจหลายรายบอกแล้วว่าจะตอบโต้ แต่รายละเอียดสำคัญ ๆ ก่อนประกาศ ยังไม่ชัดเจน รวมถึงว่า อัตราภาษีนำเข้าจะสูงแค่ไหนและเป็นสินค้าอะไรบ้าง
แต่ต่อมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า มี 21 ประเทศที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ในรายงานประเมินการค้าที่ไม่เป็นธรรม ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย ตุรกี สหราชอาณาจักร และเวียดนาม
แต่ ทรัมป์ บอกว่า เขาไม่เคยได้ยินข่าวลือเรื่อง เดอร์ตี้ เท็น หรือ เดอร์ตี้ ฟิฟทีน และบอกว่า น่าจะเริ่มกับทุกประเทศมากกว่า หากเป็นอย่างที่ทรัมป์พูด ก็เป็นไปได้ว่าภาษีที่ทรัมป์ประกาศในวันปลดแอก อาจเป็นภาษีแบบเหมารวม ที่เรียกเก็บกับทุกสินค้านำเข้าและจากทุกประเทศ ซึ่งเป็นไปตามคำสัญญาตอนหาเสียง อันหมายถึงว่า ภาษีนำเข้าใหม่ จะครอบคลุมสินค้านำเข้ามูลค่าเกือบ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากสถิติการค้าของรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์บอกล่าสุดเมื่อวานว่า เขาสัญญาว่าจะใจดีให้มาก ในการประกาศภาษีตอบโต้
มาร์ค แซนดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ มูดี้ส์ อะนาไลติกส์ กล่าวว่า ภาษีศุลกากรทั่วไป 20% บวกกับการตอบโต้สินค้าส่งอเมริกันจากคู่ค้าแบบเต็มพิกัด จะเป็นฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผลวิเคราะห์โดยการจำลอง พบว่า ตำแหน่งงานในสหรัฐฯ อาจหายไป 5 ล้าน 5 แสนตำแหน่ง อัตราว่างงานเพิ่มแตะ 7% และจีดีพีสหรัฐฯ ลดลง 1.7% เขาจึงคิดว่าทรัมป์น่าจะเลือกแนวทางที่ไม่สุดโต่งขนาดนั้นเพื่อเลี่ยงความเสียหาย
ด้าน เอริกา ยอร์ก รองประธานนโยบายภาษีของรัฐบาลกลางที่มูลนิธิภาษี ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่มีแนวคิดเอียงขวา กล่าวว่า ไม่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าแบบไหน ก็จะถือเป็นประวัติศาสตร์ / ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อน ๆ เคยกดดันเรื่องภาษีเหล็ก ยางรถยนต์ รถไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ แต่ไม่มีครั้งไหนที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ทรัมป์กำลังจะประกาศในวันนี้เลย