CNA สิงคโปร์รายงานว่านักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งกัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, เมียนมา, และไทย หรือที่เรียกกว่ากลุ่มประเทศอินโดจีน อยู่ในลิสต์กำแพงภาษีตอบโต้ในอัตราที่มากกว่าสมาชิกอาเซียนอื่นๆ นอกจากเหตุผลที่ได้เปรียบดุลย์การค้าสหรัฐแล้ว ก็ยังเป็นเพราะ 5 ประเทศเหล่านี้อยู่ในกลุ่มโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับจีน และมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีนซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของสหรัฐ มากกว่าสหรัฐ โดยกัมพูชาและลาวโดนเรียกเก็บหนักที่สุดคือ 49 และ 48 % ตามลำดับ ส่วนเวียดนามโดน 46% เมียนมา 44% และไทย 36% ขณะที่สิงคโปร์ถูกเรียกเก็บเพียง 10%, ฟิลิปปินส์ 17%, มาเลเซียและบรูไน 24% และอินโดนีเซีย 32%
ทั้งนี้อู่ วิง ไทย์ นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายมาเลเซีย-อเมริกันกล่าวว่าทรัมป์จงใจที่จะสร้างเจ็บปวดให้กับประเทศเหล่านี้ด้วยเหตุผลที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับจีน และอาจทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้นักลงทุนบางส่วนอาจโยกการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นเป้ากำแพงภาษีจากทรัมป์น้อยกว่า เช่นฟิลิปปินส์หรือสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามนายอู่มองว่าการโจมตีทางภาษีของทรัมป์จะยิ่งผลักดันให้กลุ่มอินโดจีนเหล่านี้่เขยิบใกล้ชิดจีนมากขึ้น โดยหลายประเทศอาเซียนเริ่มพูดกันแล้วว่าพวกเขาต้องการจะดำเนินนโยบายที่เป็นกลางระหว่างสหรัฐกับจีน แต่มาตรการภาษีของทรัมป์ยิ่งเป็นแรงขับดันให้อาเซียนหันมาสนับสนุนจีนมากขึ้นในสงครามการค้าครั้งนี้
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญมองว่าสมาชิกอาเซียนไม่มีพลังมากพอที่จะงัดข้อหรือตอบโต้สหรัฐ และอันที่จริงไม่แนะนำให้ใช้มาตราตอบโต้ด้านภาษีเพราะจะยิ่งกระทบเศรษฐกิจของตัวเอง แต่ควรผนึกกำลังกันในฐานะกลุ่มอาเซียนและรีบมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆแทนสหรัฐ เช่นจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อียูหรือแม้แต่กลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการตอบโต้ที่ได้ผลมากกว่า