DSI แฉบริษัทเอกชนจีน สร้างตึกสตง. ภาษี 0 บาท งบขาดดุล เร่งล่าคนหนุนหลัง
ข่าวที่น่าสนใจ
จากกรณีที่พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ต่อมาได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย
โดยมีร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยพันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน รวมถึงมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดประเด็น และแนวทางการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน สำหรับนำเข้าสำนวนคดี ตามที่มีรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันนี้ (6 เม.ย.) ทีมข่าวท็อปนิวส์ได้สอบถามไปยังคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 4 เมษายน ได้มีการมอบหมายภารกิจให้เจ้าหน้าที่ DSI แต่ละราย ลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานที่จะใช้ในสำนวนคดี นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งที่ปรึกษาคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 30 เพื่อให้คำแนะนำในการทำสำนวนคดี รวมถึงกำหนดแนวทางการสอบสวนคดีนอมินี ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นางสาว กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) (ACT) และเจ้าหน้าที่วิศวกรโยธา 2 ราย ซึ่งได้รับการมอบหมายจากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น เป็นต้น
ส่วนกรณีที่แต่งตั้ง นางสาว กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี มาเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษนั้น เนื่องด้วยจากหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานสอบสวนเล็งเห็นถึงลักษณะของบริษัทจีน ที่เรียกได้ว่าเป็น “บริษัทจีน 0 บาท” เพราะว่าบริษัทจีนไม่ได้มีการลงทุนจริงเหมือนอย่างที่กล่าวอ้างต่อสาธารณะ ว่าเข้ามาช่วยลงทุนในไทย และยังเป็นภาษี 0 บาท เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนไปดูในงบดุล จะพบว่ามีการขาดทุนมาตลอด อีกทั้งมีการอ้างตัวว่าเป็นคนไทย แสดงตัวว่าเป็นคนไทย แต่เหตุใดต้องมีการอำพราง ซึ่งก็เพราะว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ มีคนจีนถือหุ้น 49%
สำหรับภารกิจของ DSI นอกจากเร่งสืบสวนสอบแล้ว ก็ต้องติดตามพยานเอกสารทั้งหมดของโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ และติดตามตัวบุคคลทุกรายที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างตึก สตง. แห่งใหม่ และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
ส่วนกรณีแผนผังโครงสร้าง 11 กิจการร่วมค้า พนักงานสอบสวนจะต้องไปไล่เรียงตรวจสอบเช่นกัน แต่ตามขั้นตอนแล้ว DSI จะเน้นสอบสวนไปที่บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นกิจการคู่ค้ากับ บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ โดยเฉพาะในกรณีโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ โดยจะต้องไปไล่ตรวจสอบเอกสารสัญญากิจการร่วมค้า เพื่อดูว่าลักษณะเป็นการร่วมค้ากันอย่างไร เพราะปกติแล้วในเอกสารสัญญากิจการร่วมค้า จะต้องทำข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตราสัดส่วนในการลงทุนระหว่างกัน ใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างไร ตรงนี้คือการย้อนไปตรวจสอบถึงแบ็กกราวนด์ความเป็นไปมาของเครือข่าย และคอนเนกชันของพวกเขา ซึ่งคาดว่าเป็นสายคอนเนกชันระดับประเทศ
นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เปิดเผยถึงการตรวจสอบ 29 โครงการภาครัฐที่ บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ได้ชนะประมูลก่อสร้างไปทั่วประเทศ ว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการมอบหมายให้ไปตรวจสอบเช่นกัน ว่ามีอาคารใด โครงการใดที่ก่อสร้างแล้วปัจจุบันถูกทิ้งร้าง หรือติดค้างอยู่ในกระบวนการใดหรือไม่ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องที่มีธุรกิจเกี่ยวกับยางรถยนต์แห่งหนึ่งมาเกี่ยวข้องกับ บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ นั้น DSI ได้สืบสวนข้อมูลในเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว มีมูลว่าเกี่ยวข้องโดยตรง แต่รายละเอียดสำคัญใด ๆ DSI ต้องขอสงวนไว้ในการสอบสวนก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น