หานหลินเทา รองคณบดีคณะภาษาอังกฤษและนานาชาติศึกษา มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง (BLCU) เผยว่ามีการปรับแต่งเครื่องมือแปลภาษาจีน-เมียนมาให้เหมาะสมกับการรับมือภัยพิบัติตามคำร้องขอของทีมกู้ภัยจีน หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.
หานกล่าวว่าแม้มีเครื่องมือแปลภาษาจีน-เมียนมาอยู่หลายตัว แต่ไม่มีตัวไหนถูกออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการกู้ภัยเลย โดยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ของดีปซีกช่วยให้สามารถพัฒนาแนวทางการใช้งานเฉพาะด้านได้อย่างรวดเร็ว
รายงานระบุว่ามีการอัปเดตเครื่องมือแปลภาษาตามความเห็นของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตัว รวมถึงเพิ่มเติมคุณสมบัติต่างๆ เช่น การแปลเสียงและข้อมูลแผนที่ เพื่อสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ โดยข้อมูลสถิติระบุว่ามีการบริการแปลภาษาผ่านแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 2,850 รายการ
นอกจากนั้นแพลตฟอร์มนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการกองบริการภาษาฉุกเฉินแห่งชาติ (NLSC) ซึ่งระดมเหล่าผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลภาษา การสังเคราะห์เสียง และการรู้จำเสียง
เครดิต: ซินหัว