“รองผู้ว่าสตง.” แจงกมธ.ที่มาตึกถล่ม คนงานเสียชีวิตมาก ทั้ง ๆ บริษัทจีนถูกยกเลิกสัญญาก่อสร้าง
ข่าวที่น่าสนใจ
10 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) เป็นประธานกมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยได้เชิญ ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง. ) มาชี้แจง หลังเกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และถูกตั้งคำถามถึงเรื่องความโปร่งใส จากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่28มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง. ได้มอบหมายนายสุทธิพงษ์ บุญนิธ และนางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าฯสตง. พร้อมคณะมาชี้แจงแทน และถือเป็นครั้งแรกที่ สตง. มาชี้แจงในเรื่องนี้
โดยนายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สตง.ยินดีชี้แจงเพราะต้องการนำเสนอข้อเท็จจริง และมั่นใจในการปฎิบัติหน้าที่ แต่ถนนทุกสายวิ่งมาที่ สตง. แม้แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ วันนี้ขอพูดข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ ฉะนั้นการก่อสร้างทั้งหมดต้องจ้างออกแบบและจ้างควบคุมงาน ส่วนเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวต้องไปถามผู้ออกแบบ ซึ่งเขาก็บอกว่าดำเนินการแล้ว มีคนตั้งคำถามว่า มีคนแค่ 500 คนทำไมต้องสร้างตึกใหญ่โต คนที่พูดแสดงว่าไม่มีความรู้จริงๆ สตง.มีพนักงาน 4,000 คน จึงต้องสร้างตึกสูงแบบนี้ เห็นเมื่อไรก็เสียใจทุกครั้ง ตนยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างยึดหลักกฎหมาย ตั้งแต่จ้างผู้ออกแบบ มีการแต่งตั้งกรรมการจ้างออกแบบ ส่งหนังสือเชิญผู้ให้24 ราย แต่มายื่นข้อเสนอ 3 ราย จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาตามเกณฑ์คะแนน พบว่า บริษัทบจก.ฟอ-รัม อาร์คิเทค และบจก.ไมนฮาร์ท ประเทศไทย ได้รับคะแนน 91.12 คะแนน จึงอนุมัติจ้างออกแบบ ในวงเงิน73 ล้านบาท จากนั้นคัดเลือกบริษัทควบคุมงาน คณะกรรมการได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการ จำนวน 19 ราย มีมา 5 รายที่ส่งข้อเสนอมา ระหว่างนั้น สตง.ได้ขอเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมด้วย แต่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต แจ้งไม่คัดเลือกตึก สตง.เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมบัญชีกลาง ที่มีผู้เข้าประกวดราคา 16 ราย แต่ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยไม่พบช่องว่า มีการฮั้ว และคำตอบที่ได้รับคือบริษัทดังกล่าวมีทุน และเทคโนโลยีจากจีน โดยบริษัทนี้อ้างว่า ทำงานได้ แม้จะได้งบประมาณตามที่เสนอราคาไว้ ส่วนเรื่องเพื่อความโปร่งใส สตง.ได้ทำ MOU กับ ACT องค์การต่อต้านคอรัปชั่น ประเทศไทย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี สามารถขยาย 2 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดและมีการปรับรูปแบบแต่ผ่านมา 4 ปี เพิ่งสร้างได้ 33 % เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงมีมติบอกเลิกสัญญาไป เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่า ได้มาเกิดเหตุอาคารพังถล่มลงมาเสียก่อน สตง.ยืนยันว่า ไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วมก่อสร้าง เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด สตง.ยังดีใจว่า ได้บริษัทที่มีระดับเบอร์ 1 ของประเทศ มารับสร้างโครงการนี้ จากนั้นประธานในที่ประชุม ได้ขอเชิญสื่อมวลชน ออกจากห้องประชุมเนื่องจากต้องซักถามในประเด็นที่ละเอียดอ่อน
ต่อมาในเวลา 14.00น. น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ.กิจการศาลฯ แถลงภายหลังการประชุม กมธ.ฯว่า กมธ.ได้ซักถามถึงรายละเอียดโครงการก่อสร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ ทั้งการออกแบบ การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้าง ได้รับการยืนยันจากสตง.ว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายทุกขั้นตอน ส่วนการแก้ไขสัญญารวม 9ครั้ง เนื่องจากปัญหาแบบงานโครงสร้างด้านวิศวกรรมขัดกับงานสถาปัตยกรรม แต่ทุกกรณีได้หารือไปยังผู้ออกแบบทุกครั้ง สตง.ยืนยันไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสาให้เล็กลง รวมถึงคุณภาพเหล็ก ปูน ก็เป็นไปตามมาตรฐานมอก. มีการทดสอบแรงดึง และการดัดโครงของเหล็กผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีการลดคุณภาพ ส่วนที่อาคารใหม่สตง.ต้องก่อสร้างใหญ่โตนั้น เนื่องจากปัจจุบันสตง.ไม่มีสำนักงานของตัวเอง ตึกที่สร้างใหม่จะรองรับข้าราชการได้ 2,400คน รวมถึงรองรับผู้แทนองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศด้วย ส่วนเรื่องการประกันภัยตัวอาคารนั้น สตง.ยืนยันว่า ผู้ก่อสร้างได้ซื้อประกันภัยก่อสร้างครอบคลุมเต็มวงเงินในสัญญา
ด้านนายสัญญา ในฐานะประธานกมธ. กล่าวว่า ตัวแทนสตง.ชี้แจงว่า การก่อสร้างอาคารสตง.ล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะบริษัทรับเหมามีปัญหาเรื่องทุน ดังนั้นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงบอกเลิกสัญญาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 15ม.ค.2568 แต่ขั้นตอนยกเลิกสัญญายังไม่เสร็จสิ้น อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการสตง.เป็นผู้อนุมัติ แต่ปรากฏว่า เกิดเหตุถล่มลงมาก่อน เมื่อบริษัทผู้รับเหมาทราบว่า จะถูกยกเลิกสัญญาก่อสร้าง เพราะมีปัญหาเรื่องทุน จึงรีบเกณฑ์คนงานเข้ามาก่อสร้าง เพื่อให้เห็นว่า ตัวเองมีศักยภาพทำงานต่อไปได้ จากเดิมที่มีอยู่ 80คนต่อวัน ขนคนมาเพิ่มเป็น 400 คนต่อวัน จึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้สตง.ระบุว่า จะออกมาแถลงความชัดเจนทุกเรื่องอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น