ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ในห้องทำงานทำเนียบขาว ตอบคำถามที่ว่าสหรัฐฯจะใช้วิถีทางทหารจัดการหรือไม่ หากอิหร่านไม่ทำความตกลงยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ ทรัมป์ ตอบว่า เป็นไปได้อย่างแน่นอน หากเป็นทางเลือกที่จำเป็น สหรัฐฯจะใช้ปฏิบัติการทหาร โดยอิสราเอลจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และอาจเป็นผู้นำปฏิบัติการ
ไทมส์ ออฟ อิสราเอล รายงานว่า ทรัมป์ขู่ทิ้งระเบิดหรือโจมตีอิหร่านหลายครั้ง แต่เป็นครั้งแรกที่ขู่ว่า การโจมตีอิหร่านจะทำโดยอิสราเอล หรืออิสราเอลจะเป็นแกนนำ แต่เมื่อแสดงความเห็นเพิ่มเติม ทรัมป์ดูเหมือนกลับคำเล็กน้อย ว่าไม่มีใครมานำเราได้ เราทำในสิ่งที่อยากทำเท่านั้น
ทรัมป์ กล่าวว่า เขามีไทม์ไลน์อยู่ในใจแล้วว่าอิหร่านควรใช้เวลาเท่าไหร่ในการตัดสินใจ โดยไม่ได้ลงรายละเอียด แต่บอกว่า อิหร่านมีเวลาไม่มากนัก เพราะสหรัฐฯจะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ สื่อบางสำนักรายงานก่อนหน้านี้ว่า ทรัมป์ขีดเส้นว่า กระบวนการพูดคุยและตกลงใจ ควรจบในสองเดือน
ทรัมป์ กล่าวว่า เขาอยากเห็นอิหร่านรุ่งเรือง แต่อย่างเดียวที่ปล่อยให้มีไม่ได้ คืออาวุธนิวเคลียร์ ซึ่ง อิหร่านเข้าใจดี
อีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ได้พบปะกับ จอห์น แรตคลิป ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีในนครเยรูซาเลม เมื่อค่ำวานนี้ (9 เมษายน) โดยมี ดาวิด บาร์เนีย หัวหน้าหน่วยมอสสาดเข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นการพบกันสองวันก่อนที่สหรัฐฯ โดยนายสตีฟ วิคคอฟฟ์ ตัวแทนสหรัฐฯ จะพูดคุยกับนายอับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศที่ประเทศโอมาน ที่จนถึงขณะนี้อิหร่านยังคงยืนยันว่าจะเป็นการพูดคุยทางอ้อม
ที่กรุงมอสโก ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน แสดงความเห็นว่า รัสเซียรับทราบเรื่องการใช้ถ้อยคำรุนแรง แต่ขอแนะนำว่า ควรโฟกัสที่การติดต่อระหว่างกัน มากกว่าการเผชิญหน้า และบอกด้วยว่า อิหร่านเองก็เตรียมมาตรการป้องกันไว้แล้ว แต่ไม่ได้ขยายความ
ด้าน มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า โลกเอือมระอากับการคุกคามอิหร่านแบบไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าการโจมตี ไม่อาจปูทางไปยังสันติภาพได้ รัสเซียอยากเห็นทางออกที่สามารถเจรจากันได้และอย่างได้ผล ในการทำให้ตะวันตกลดความระแวงต่อโครงการเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเยียมของอิหร่าน และฟื้นฟูความไว้วางใจ ปรับสมดุลผลประโยชน์ และหลีกเลี่ยงวิกฤติ
รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ถอนตัวฝ่ายเดียวจากข้อตกลง JCPOA ที่ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและเยอรมนี ตกลงกับอิหร่านว่าจะจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ ยอมให้เข้าตรวจสอบมากขึ้นแลกผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร เมื่อสหรัฐฯถอนตัว ก็ทำให้อิหร่านเดินหน้าเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่มองกันว่าเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า อิหร่านไม่ควรต้องรับผิดชอบกับผลตามมาจากการกระทำของฝ่ายที่วิสัยทัศน์สั้น คาดการณ์ผิดพลาด และบั่นทอนข้อตกลง