"สก.นภาพล" จี้ "ชัชชาติ" เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสีเขียว เสียดายภาระดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้าน ควรใช้นำพัฒนากทม.
ข่าวที่น่าสนใจ
สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ ( 9 เม.ย.2568) ที่ประชุมสภากทม. ได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่โดยนายนภาพล จีระกุล สก.บางกอกน้อย ในฐานะประธานกมธ.ได้รายงานสรุปในกรณีหนี้สินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งกทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ค้างชำระอยู่ ตั้งแต่ปี 2562 ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ประชุมพิจารณาปัญหาดังกล่าว พร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลทุกด้าน รวมถึงพิจารณาสัญญา ระเบียบ กฎหมาย คำฟ้อง คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด และแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่ามีความจำเป็นที่ผู้บริหารกทม.ควรเร่งชำระหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อลดภาระใช้จ่ายจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ล่าสุด วันนี้ (10 เม.ย) นายนภาพล จีระกุล สก.บางกอกน้อย. ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับ “ท็อปนิวส์” เพิ่มเติม โดยระบุว่า หลังจากที่ตนได้รายงานผลการศึกษาคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางส่วน) ต่อที่ประชุมสภากทม. โดยเฉพาะในส่วนของภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 รวมถึงภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 5.4 ล้านบาท เห็นชัดเจนว่า ภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีการจัดการชำระหนี้สินค้างจ่ายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มูลหนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ยอดหนี้ที่บีทีเอสซี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นมูลหนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565) เป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้นจำนวน 12,245 ล้านบาท(เงินต้น 11,811 ล้านบาท)
ส่วนที่ 2 ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง ธันวาคม 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 17,121 ล้านบาท
และส่วนที่ 3 คือค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ 1 มค. 68 ไปจนถึงวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน ซึ่งเดิมมีข้อเสนอว่าให้นำเอารายได้ของรถไฟฟ้าสีเขียวรายเดือน ส่วนต่อขยายที่หนึ่งและสอง มาจ่ายคืนให้กับบีทีเอสซี ในทุกวันที่ 20 ของเดือน โดย กทม. จะสนับสนุนส่วนต่างค่าจ้างเดินรถ เพื่อทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคม และ กทม. ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย เบื้องต้น แต่ปรากฎว่าผ่านมาแล้ว 3 เดือน จากการตรวจสอบยังไม่มีการชำระเงินให้แก่เอกชนแต่อย่างใด
นายนภาพล ระบุด้วยว่า ปัจจุบันภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง จากวันที่เอกชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หรือ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2564 จนถึง ธ.ค. 2567 มียอดรวมกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท โดยมีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.4 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งจากภาระดอกเบี้ยดังกล่าว ทางด้านคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่า ทางกทม.ควรมีการชำระหนี้ก้อนที่ 2 ให้แก่เอกชน เพื่อไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย
ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีการรายงานผลการศึกษาต่อสภากทม.ไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับ น ายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เบื้องต้นผู้ว่าฯกทม. ระบุว่าจะนำผลการศึกษาไปพิจารณา และปรึกษาสำนัดงานกฏหมาย รวมถึงจะทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการเพื่อขอความคิดเห็นในเรื่องนี้ และต้องรอว่าทางสำนักงานอัยการจะตอบกลับเรื่องนี้มาเช่นไร หากสำนักงานอัยการมีความเห็นเช่นเดียวกับการชำระหนี้ก้อนที่หนึ่งทางกทม.จะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวิสามัญฯ มองว่า การเร่งชำระหนี้ให้แก่เอกชนนั้น จะเป็นผลดีกับทางกทม.ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย 5.4 ล้านบาทต่อวัน และจะสามารถนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ได้ อีกทั้งจากการสอบถามทาง บริษัทกรุงเทพธนาคม หรือ เคที ถึงแนวทางการต่อสู้คดี ในส่วนของภาระหนี้ก้อนที่ 2 ที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องว่ามีประเด็นหรือข้อมูลใหม่ หรือมีความแตกต่างจากการฟ้องร้องครั้งแรก เพื่อจะนำไปใช้ในการต่อสู้หรือไม่
ปรากฎว่าทางผู้บริหารบริษัทกรุงทพธนาคม หรือ เคที แจ้งว่า แนวทางการต่อสู้ยังคงเป็นประเด็นเดิม ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ มองว่า ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาครอบคลุมแล้วในทุกประเด็น จึงเห็นว่า ผลการพิจารณาของศาลปกครองในคดีที่สอง จะไม่มีความแตกต่างจากการพิจารณาในคดีแรก เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากสัญญาเดียวกัน และหากรอให้คดีสิ้นสุด ซึ่งไม่รู้ว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อใด จะยิ่งทำให้กทม.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา MLR+1 ต่อปี หรือประมาณ 8% (เฉลี่ย 5.4 ล้านบาทต่อวัน) ต่อไปอีก
“หากการชำระหนี้ ยืดเยื้อออกไป กทม. จะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จึงมองว่า หลังจากผู้ว่าฯ รับรายงานไปพิจารณา ควรเร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อให้กทม ปลอดภาระดอกเบี้ย ซึ่งเบื้องต้นทางผู้ว่าฯ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อไปเจรจากับบีทีเอสซี ถึงเรื่องภาระหนี้และอัตราดอกเบี้ยว่า ในส่วนของภาระหนี้และดอกเบี้ย ทางเอกชนจะสามารถปรับลดหรือหยุดการคิดอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ เพื่อให้มีตัวเลขที่ชัดเจนในการยื่นขออนุมัติงบประมาณต่อไป”
นายนภาพล ระบุด้วยว่า หากทางผู้ว่ากทม.สามารถดำเนินการทุกอย่างได้แล้วเสร็จ ทั้งหนังสือตอบกลับจากสำนักงานอัยการ ถึงการจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอสซี และการได้ข้อสรุปแนวทางการลดหนี้ คาดว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ จะสามารถเสนอข้อญัตติเรื่องนี้เข้าสู่สภากทม. ในส่วนของวาระที่ 2-3 และ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เอกชนต่อไป
“จากการหารือกับนายชัชชาติ เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องการชำระหนี้ให้เอกชน แต่ทั้งนี้ ในการชำระหนี้จะต้องปรึกษาทีมกฏหมาย และสำนักงานอัยการ ให้ชัดเจนเสียก่อน จึงจะดำเนินการได้ และภายหลังการรายงานผลแก่สภากทม ตนยังมีนัดจะเข้าหารือกับนายชัชชาติอีกครั้ง แต่เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ผู้ว่าฯกทม ติดภาระกิจจำนวนมากจึงคาดว่าจะเข้าหารืออีกครั้งในเร็วๆนี้”
สำหรับมูลหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม (KT)และกทม. พร้อมประมาณการดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้านบาท ตามข้อมูลสรุปของคณะกรรมการศึกษาวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีนายนภาพล จีระกุล เป็นประธานคณะกรรมการ ประกอบด้วย
1.ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ บริษัทกรุงเทพธนาคม ( KT) ได้ร่วมกันชำระให้กับ BTSC แล้วเป็นเงินจำนวนกว่า 14,476 ล้านบาท
2.ยอดหนี้ ตามที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้ กทม. และ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (หนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565) เป็นเงินจำนวน 12,245 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
แยกเป็น ค่าจ้างเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 เงินต้นจำนวน 2,279 ล้านบาท ดอกเบี้ย 501 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,780 ล้านบาท
ส่วนต่อขยายที่ 2 เงินต้นจำนวน 7,848 ล้านบาท ดอกเบี้ยจำนวน 1,617 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 9,465 ล้านบาท
3.ยอดหนี้ ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง ธันวาคม 2567) ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวน 17,121 ล้านบาท
แยกเป็น ค่าจ้างเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 เงินต้นจำนวน 3,242 ล้านบาท ดอกเบี้ย 274 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,516 ล้านบาท
ส่วนต่อขยายที่ 2 เงินต้นจำนวน 12,615 ล้านบาท ดอกเบี้ยจำนวน 990 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 13,605 ล้านบาท
4. ยอดหนี้ประมาณการ ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต (ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2568 จนถึง ธันวาคม 2568 ) บริษัทกรุงเทพธนาคม และ กทม. ต้องชำระค่าจ้างเดินรถ 8,761 ล้านบาท แยกเป็น ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,612 ล้านบาท และ ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 6,149 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง