นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยที่มีศักยภาพพร้อมต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยสามารถขยายผลสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนา “ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน” (DOA-Soil Test Kits) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดินในแต่ละฤดูกาลได้อย่างรวดเร็ว และใช้ทดแทนหรือลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร นำไปสู่ระบบการผลิตพืชที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ชุดตรวจสอบธาตุอาหารหลัก ซึ่งสามารถวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปริมาณอินทรียวัตถุ (OM) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดิน พร้อมการแปลผลและให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินผ่านเว็บแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
เพิ่มความแม่นยำและความสะดวกในการใช้งาน ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจวิเคราะห์ดินและรับคำแนะนำได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และชุดตรวจสอบธาตุอาหารรองและเหล็ก ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของไทยที่พัฒนาและผลิตใช้งานได้จริง โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถใช้นวัตกรรมนี้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรให้การสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชอัตลักษณ์ โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน “DOA-Soil Test Kits” ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมบูรณาการเทคโนโลยีนวัตกรรมร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาเป็นกระบวนการจัดการผลิตพืชเฉพาะพื้นที่ตามมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายการผลิตพืช รักษาคุณภาพผลผลิต และยกระดับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังสนับสนุน ชุดตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน ให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 34 ศูนย์ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้
ของกรมวิชาการเกษตรในระดับชุมชน และขยายผลสู่เกษตรกรในวงกว้าง
นายเทวรัตน์ บูรณ์สวัสดิ์พงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กล่าวเสริมว่า กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี ศูนย์วิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา จัดอบรมหลักสูตร “ถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกปฏิบัติการตรวจดินอย่างง่าย DOA-Soil Test Kits” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะด้านวิชาการการผลิตพืชให้แก่เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร จำนวน 120 คน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้หลักการและวิธีวิเคราะห์ดินโดยใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารหลัก พร้อมการแปลผลและให้คำแนะนำผ่านเว็บแอปพลิเคชัน รวมถึงหลักการและวิธีวิเคราะห์ดินโดยใช้ ชุดตรวจสอบธาตุอาหารรองและเหล็ก นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของธาตุอาหารพืชและการวิเคราะห์ดินทางการเกษตร วิธีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อการวิเคราะห์ การใช้ปุ๋ยสำหรับพืชไร่ ไม้ผล ข้าว และปาล์มน้ำมัน พร้อมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างดินในแปลงปลูกพืช และการใช้ DOA-Soil Test Kits ในภาคสนามเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ