นายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังอยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรโดยหน่วยดัดแปรสภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแพร่ และจังหวัดพิษณุโลก จึงวางแผนปฏิบัติการด้วยเทคนิคการก่อเมฆ เลี้ยงเมฆให้อ้วน เพื่อดูดซับและระบายฝุ่นออกจากพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการสเปรย์น้ำเย็นเพื่อระบายฝุ่นออกจากชั้นอุณหภูมิผกผัน ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน 2568 ได้ปฏิบัติการช่วยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา ตาก เชียงราย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองลดลงในระดับหนึ่งและมีฝนตกบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะยังคงปฏิบัติภารกิจการบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เที่ยวในช่วงวันหยุดยาวนี้กันอย่างปลอดภัย
นายราเชน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากภารกิจการบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แล้ว ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีความต้องการมาตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 และในเดือนเมษายนนี้มีการปรับแผน
ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำเดือนเมษายน จำนวน 5 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดนครราชสีมา หน่วยฯ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หน่วยฯ จังหวัดนครสวรรค์ หน่วยฯ จังหวัดจันทบุรี และหน่วยฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเน้นช่วยพื้นที่การเกษตรที่กำลังเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% สำหรับผลปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 7 เมษายน 2568 พบว่า ปฏิบัติการฝนหลวงไปจำนวน 32 วัน 256 เที่ยวบิน มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 47.63 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 14 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง-เล็ก จำนวน 37 แห่ง ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม 34.34 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงสัปดาห์นี้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการตั้งหน่วยยับยั้งพายุลูกเห็บ จำนวน 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเฝ้าระวังการปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ โดยใช้เครื่องบินปรับความดัน Super King Air และเครื่องบิน Alpha Jet ปฏิบัติการเพื่อให้ตกเป็นฝน ลดความรุนแรงและความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม – 7 เมษายน 2568 ปฏิบัติการไปจำนวน 10 วัน 16 เที่ยวบิน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 361 นัด ปฏิบัติการในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ หนองบัวลำภู สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ลพบุรี มหาสารคาม ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ และเลย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr หรือขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วทุกภูมิภาค หรือโทรศัพท์หมายเลข 02-109-5100 ต่อ 410