"สันติสุข" จี้กทม.จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว "ชัชชาติ" สร้างภาระดอกเบี้ย ค้างชำระเอกชน วันละ 5.4 ล้าน ถึงเวลานายกฯ ต้องจัดการแก้ปัญหาเอง
ข่าวที่น่าสนใจ
สืบเนื่องจากการที่นายนภาพล จีระกุล สก.บางกอกน้อย. ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้สรุปรายงาน พร้อมความเห็นให้ผู้บริหารกทม.พิจารณาเร่งชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง(O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้านบาท
และทางด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า จะนำผลการศึกษาของคณะทำงานสภากทม.ไปพิจารณาและปรึกษาทางด้านอัยการที่เป็นเจ้าของคดี เพราะขณะนี้ในส่วนของมูลหนี้ งวดที่ 2 ยังค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครอง
ต่อมาทางด้านนายศักดิ์เกษม นิไทรโยค โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกับ “ท็อปนิวส์” กรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุต้องรอหนังสือตอบกลับ ข้อซักถามที่ส่งไปถึงอัยการเจ้าของคดี เกี่ยวกับการชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แก่เอกชนว่า ในส่วนของอัยการต้องดูว่า นายชัชชาติ ถามในเรื่องอะไร ซึ่งอัยการจะตอบไปในเรื่องที่ถามมา ส่วนกรอบระยะเวลาการทำงาน จะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้อยู่แล้ว เว้นแต่ว่า ทาง กทม.ระบุมาในหนังสือขอให้อัยการตอบภายในกี่วัน ยกตัวอย่างเช่นให้ กทม.ขอให้ตอบกลับภายใน 20 วันหลังจากได้รับหนังสือ ถ้าเป็นเช่นนี้อัยการจะตอบกลับภายใน 20 วันตามที่ กทม.ร้องขอ
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า กทม.ต้องชดใช้หนี้ให้แก่บีทีเอส ไม่ทราบว่าในส่วนนี้อัยการจะมีความเห็นอย่างไร นายศักดิ์เกษม กล่าวชี้แจงว่า โดยปกติหากศาลมีคำพิพากษาที่เด็ดขาด อัยการจะไม่ตอบข้อซักถามในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา
แต่หากเป็นกรณีที่ กทม.สอบถามอัยการว่า ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือสามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่ ทางอัยการต้องดูว่า คำพิพากษาตัดสินว่าอย่างไร ที่สำคัญต้องดูหลักฐานทุกชิ้นว่ามีเหตุให้อุทธรณ์หรือไม่ และถ้าอุทธรณ์จะมีโอกาสชนะหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาเป็นที่สุดให้ชำระหนี้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วนั้น ทางอัยการจะตอบคำถามกลับไปว่า ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และกทม.ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว
ขณะที่ทางด้านดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว ท็อปนิวส์ ถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร อ้างถึงขั้นตอนทางกฎหมาย ในการดำเนินการชำระหนี้ให้กับ บีทีเอสซี ว่า ในส่วนของภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ทางกทม.ควรจะรีบจ่ายหนี้ให้แก่บีทีเอสซี เพื่อลดภาระลดเบี้ยกว่าวันละ 5.4 ล้านบาทที่กทม.จะต้องรับผิดชอบ และควรต้องเร่งจ่ายหนี้ทั้งในส่วนที่อยู่ระหว่างการยื่นฟ้องงวดที่ 2 หรือ ก้อนอื่นๆ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินให้กทม.ชำระหนี้ให้แก่เอกชนแล้ว และ สัญญาได้ครอบคลุมหนี้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินเรียบร้อยแล้ว กทม. ก็ควรที่จะต้องชำระหนี้ให้หมดทุกก่อน
“ทั้งนี้หากจำนวนหนี้ที่เกิดขึ้นถึงที่สุดตามขั้นตอนศาลปกครอง ส่วนตัวเชื่อว่า กทม.คงไม่มีเงินที่ชำระให้แก่บริษัทเอกชน และต้องเลือกขยายระยะเวลาสัมปทาน(ส่วนไข่แดง) ให้กับบีทีเอสซีที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 ไปอีก 30 ปี เป็นสิ้นสุดสัมปทานในปี 2602 ดังนั้นทางเลือกของกทม.ขณะนี้จึงมี 2 แนวทางคือการเร่งจ่ายหนี้ให้เอกชน หรือ ขยายสัญญาสัมปทาน ซึ่งหากกทม.มีเงินเพียงพอก็ควรจะเร่งจ่าย เพื่อให้ปี 2572 สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับมาเป็นของกทม. ทำให้กทม.สามารถบริหารจัดการค่าโดยสารในอัตราที่ต้องการได้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “โฆษกอสส.” แจงยึดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กทม.ต้องจ่ายหนี้ “รถไฟฟ้าสีเขียว” ถ้าไม่มีเหตุควรอุทธรณ์
“ดร.สามารถ” ชี้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด แนะกทม.เร่งจ่ายหนี้ค่าจ้าง BTS หยุดผลกระทบดอกเบี้ย
ล่าสุดทางด้านนายสันติสุข มะโรงศรี ผู้ประกาศข่าวสถานีท็อปนิวส์ ได้กล่าวในรายการ “ข่าวเป็นข่าว” เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า วันก่อนที่สภากทม. หารือเรื่องหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แล้วผู้ว่าฯชัชชาติ ยังไม่ให้ข้อสรุป บอกว่าขอดูก่อน ดูทุกวัน แล้วดอกเบี้ยมันก็เพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าคณะกรรมการสภากทม.จะเสนอว่า ควรรีบจ่ายเงินในส่วนนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย เพราะมองว่า เงินค่าดอกเบี้ยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ส่วนอื่นได้อีก ในการบำรุง รีบไปเจรจา เพื่อให้ดอกเบี้ยหยุด ไม่เช่นน้้นดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นไม่หยุด ยิ่งถ้าล่าช้า มันก็จะเพิ่มขึ้นอีก ถ้าล่าช้าไป 1 วัน กทม.เกิดความเสียหาย มีการตั้งคำถามในที่ประชุมว่า ใครทำให้เรื่องนี้ล่าช้า กรรมการสภากทม. หรือท่านผู้ว่าฯ แต่คำตอบอยู่ในสายลม
วันนี้ผู้ว่าฯชัชชาติ ต้องตัดสินใจ อย่างครั้งก่อน ก็มีค่าเสียหายในความล่าช้าเช่นกัน เรื่องนี้รัฐบาลปัจจุบันต้องเข้ามาช่วยหรือไม่ ในการตัดสินใจ หรือจะเพิกเฉยให้ผู้ว่าฯชัชชาตินั่งทับ และดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเสียหายก็ไม่พ้นที่จะเกิดขึ้นกับคนกทม. หากเอกชนหยุดเดินรถขึ้นมา เพราะยอดดอกเบี้ยมันเยอะมาก เพิ่มไปเรื่อย ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง