ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงผลประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่อนุมัติแนวทางการดูแลราคาดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน โดยเห็นชอบปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลบี 7 จาก 1 บาท เหลือ 0.1 บาทต่อลิตร มีผลให้ราคาดีเซลบี 7 ลดลงทันทีลิตรละ 1 บาท มีผล 5 ตุลาคมนี้ ว่า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงแก๊ซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นในหลายๆ ภูมิภาค ทำให้กระทบต่อการผลิตด้านพลังงานในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และในบางประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ส่งผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 2 – 3 เท่า
ทั้งนี้แม้โอเปคจะประชุมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันนั้นก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการปรับราคาน้ำมันในช่วงนี้ได้ จึงเป็นเหตุจำเป็นที่รัฐบาลเข้ามาดูแลในส่วนของน้ำมันดีเซลบี 7 ผลักดันราคาให้ต่ำกว่า 30 บาท ซึ่งแม้จะปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลบี 7 แต่ในขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันยังมีอยู่ประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ถ้าไม่เพียงพอสามารถกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้
ส่วนกรณี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่าถ้าหากมีการเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะลดราคาน้ำมันดีเซลทันทีลิตรละ 5 บาท นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 60 ล้านลิตรต่อวัน หากจะลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ต้องใช้เงินถึง 300 ล้านบาทต่อวัน หากใช้ 1 เดือน ต้องใช้เงินถึง 1 หมื่นล้านบาท และหากใช้น้ำมันดีเซลต่อวันเต็มที่อาจถึง 100 ล้านลิตรต่อวัน ต้องใช้เงิน 1 เดือน สูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ก็ลองคิดดูว่า 1 ปีเต็มๆ ใช้เงินถึง 2 แสนล้านบาท แบบนี้พูดได้ พูดง่าย แต่ต้องถามว่าหาเงินจากที่ไหน ยุติธรรมเพียงพอหรือไม่กับทุกๆ ฝ่าย มันต้องสมดุล เพราะวิธีการที่เราดำเนินการก็รักษาสมดุล