ภายหลังจาก มีการเปิดเผยข้อมูล ว่า ประกาศ Fact Sheet ของ “ทำเนียบขาว” ได้ขึ้นข้อความ “ในวันปลดแอก (2 เม.ย.) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นแบบรายบุคคลต่อประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุด เพื่อสร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมกันและปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา มีประเทศต่างๆ มากกว่า 75 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเจรจาหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีการระงับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ย
ยกเว้น “จีน” ที่มีการตอบโต้กลับ ซึ่งปัจจุบัน จีนเผชิญกับภาษีนำเข้าในอัตราสูงสุดถึง 245% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐอันเป็นผลจากการตอบโต้ จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า สหรัฐฯจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน จาก 145% เป็น 245% หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ทางทำเนียบขาวและหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐ ยังไม่มีการชี้แจงตัวเลข 245% นี้ว่าเป็นมาอย่างไร โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างอิงถึงการเก็บภาษีจีน และสื่อต่างๆ อ้างอิงในปัจจุบันยังเป็นตัวเลขที่ 145%
ล่าสุด นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้แสดงทัศนะ และตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐผ่านเว็ปเพจของสถานทูตเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพ โดยมีการเผยแพร่ในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 ดังนี้
การเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางทั่วโลก ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพื่อน ๆ หลายคนได้สอบถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาอยากรู้ว่าชาวจีนมองเรื่องนี้อย่างไร และจะรับมืออย่างไร ข้าพเจ้าจึงขอใช้พื้นที่เล็ก ๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพื่อแบ่งปันทัศนะส่วนตัว และเป็นการตอบคำถามสำหรับสาธารณะชนที่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้
การได้เปรียบดุลการค้าเป็นความผิดหรือไม่? การค้าระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรและข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การค้าขายที่สมัครใจและเพื่อประโยชน์ร่วมกัน การที่บริษัทอเมริกันเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์แล้วนำกลับไปขายในสหรัฐฯ ก็เพราะไทยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หากคิดว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และตัดสินว่าไทยมีการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯและสมควรถูกขึ้นภาษี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การที่สหรัฐฯ เกินดุลในภาคการค้าบริการกับคู่ค้าทั่วโลกมากถึง 295,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล จะถือว่าสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมต่อคู่ค้าทั่วโลกหรือไม่ และคู่ค้าทั่วโลกควรลงโทษสหรัฐฯ หรือไม่ ดังนั้น การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ จึงไม่สอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
การแบ่งงานกันทำและการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ คือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯเองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้าโลก ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้บริโภคสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่าจากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ครองความได้เปรียบในภาคการเงิน เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง คุณโอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เคยเขียนบทความระบุอย่างชัดเจนว่า “สหรัฐฯ คือผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในเวทีการค้าโลก”
การเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่คือการใช้อำนาจบีบบังคับ สหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นอาวุธในการบีบบังคับคู่ค้าจนถึงขีดสุดและแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้อำนาจการเมืองเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการค้า อันเป็นการกดดันฝ่ายเดียวต่อคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทั่วโลกมี 190 กว่าประเทศ ลองจินตนาการดูว่า หากทุกประเทศต่างคิดว่าประเทศของตนเองต้องมาก่อน และหลงเชื่อในสถานะที่มีอำนาจที่แข็งแกร่ง โลกนี้จะถอยกลับไปสู่ยุคแห่งกฎป่า ประเทศเล็กและประเทศที่อ่อนแอจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ และระเบียบกติกาสากลจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง