สำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือ USGS รายงานการปะทุของภูเขาไฟ “คิลาเว” ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฮาวาย ปะทุขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยปล่องภูเขาไฟขนาดเล็ก บริเวณปล่องเหนือและปล่องใต้ พ่นลาวาขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง 200 เมตร ซึ่งนับเป็นการระเบิดเป็นครั้งที่ 18 ในรอบ 4 เดือน ตั้งแต่ภูเขาไฟลูกนี้เริ่มปะทุขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว
ส่วนในวันเดียวกัน ที่เมืองคาตาเนีย บนเกาะซิซิลี ของประเทศอิตาลี มีรายงานการปะทุของภูเขาไฟ “เอตนา” พ่นลาวาสีแดง คล้ายกับน้ำพุ ที่บริเวณปากปล่องภูเขาไฟ รวมถึงเถ้าถ่านจำนวนมาก ถูกพ่นขึ้นสู่ท้องฟ้า ภูเขาไฟดังกล่าวในอิตาลี เป็นภูเขาไฟที่มีพลังมากที่สุดในยุโรป มักเกิดระเบิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยเป็นอันตราย การปะทุของภูเขาไฟคิลาเว และภูเขาไฟเอตนา มีชื่อเรียกลักษณะของการปะทุเป็นแบบ “ตรอมโบเลียน”
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการปะทุของภูเขาไฟ โปอาส ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงซานโฮเซ เมืองหลวงคอสตาริกา 50 กิโลเมตร เมื่อวันจันทร์ที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยสำนักภูเขาไฟฯ ของคอสตาริกา พบเถ้าถ่าน และกลุ่มควันจำนวนมาก ถูกพ่นออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟขึ้นสู่ท้องฟ้า ความสูงกว่า 3 กิโลเมตร นานถึง 6 นาที ก่อนหน้านี้มีการประกาศเตือนภัยภูเขาไฟในระดับสีส้ม หรือระดับ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ แต่จากการปะทุครั้งล่าสุด ยังไม่ได้ยกระดับคำเตือนภูเขาไฟเพิ่มขึ้น
ภูเขาไฟโปอาสมีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ทางการต้องออกคำเตือนนักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้กับภูเขาไฟเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้มีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ใกล้เคียง
กลับมากันที่บ้านเรา ก่อนหน้านี้มีการทำนายทายทักของหมอดูชื่อดัง บอกเอาไว้ว่า ภูเขาไฟที่สงบไปแล้ว ในภาคอีสาน กำลังจะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ ภัยหลบลี้ นักธรณีวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเคลื่อนไหวทันที พร้อมกางข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่า “โอกาสภูเขาไฟปะทุ ที่เมืองไทย” สืบเนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ผิดที่ผิดทาง ที่ อ. ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปี 67 ที่ผ่านมา ประกอบกับคีย์เวิร์ดซอพพาวเวอร์ “ทุเรียนภูเขาไฟ” หรือวาทะกรรมประจำจังหวัด ที่เราคุ้นชิน “บุรีรัมย์ ดินแดนปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ” ทำให้ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ ออกอาการกังวล ถึงสาเหตุ และผลกระทบที่จะตามมา เพราะไม่ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะเกิดจาก 1) รอยเลื่อนตัวใหม่ ? หรือ 2) แมกมาใต้ภูเขาไฟ ที่กำลังขยับเขยื้อน ทั้งสองฉาก ล้วนไม่เป็นผลดีกับคนในพื้นที่อย่างแน่นอน เรื่องรอยเลื่อนเดี๋ยวค่อยว่ากัน บทความนี้อยากจะขอเคลียร์เรื่องภูเขาไฟ ว่าที่บุรีรัมย์ รวมทั้งที่เราไล่เคลมๆ กันว่าเป็นภูเขาไฟในจังหวัดอื่นๆ มีโอกาสจะปะทุบ้างไหม ในปัจจุบัน
22-25 กรกฎาคม ปี 67 เกิดแผ่นดินไหวเล็กๆ 5 เหตุการณ์ มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.โคก-ล่าม และ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขนาด 2.9 / 1.8 / 3.0 / 1.9 และปิดท้าย 1.7 ความลึกถัวๆ 1 กิโลเมตร
ภูเขาไฟ คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่โลกพยายามคลายความร้อนภายในโลก ออกสู่ภายนอก ในรูปแบบการปะทุของ หินหนืด ซึ่งเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว มักจะเกิดช่วงที่ภูเขาไฟกำลังจะปะทุ ก็เพราะความพยายามแทรกดันของแมกมา ขึ้นมาตามรอยแตกของหิน ทำให้หินแตก และเกิดแผ่นดินไหวใกล้กับตำแหน่งของภูเขาไฟ และมักเกิดกระจุกๆ เป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง