วันที่ 5 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ร.ร.อนุบาลศรีประชานุกูล อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์โสน สำนักงานเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ชมรมครูประถมศึกษา จ.ศรีสะเกษ ตาม “โครงการระดมพลังสมองผลิตชุดความคิด เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้นำครู” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด โดยมี นายสนอง ทาหอม อดีตประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.) และอดีตรองเลขาธิการคุรุสภา เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรกขั้นรับหลักการ มีการอภิปรายข้อดี ข้อต้องแก้ไขปรับปรุง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก จำนวน 70 ท่าน แต่ไม่ได้ลงมติรับหลักการเหตุเพราะสภาล่มองค์ประชุมไม่ครบ ด้วยเหตุนี้ทำให้ข้าราชการครูทั่วประเทศเกิดความคิดเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ร่างนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงหนีกลับบ้าน 2. ร่างนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสียกว่าโหวตไม่ผ่าน จากการที่ได้รับฟังการอภิปรายทั้ง 70 ท่านแล้ว มีข้อกังวลในการศึกษาของชาติ ทุกท่านเห็นด้วย แต่ล้วนต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งกระทบต่อนักเรียน ครู วิชาชีพครู ผู้ปกครอง ชุมชน และความมั่นคงของชาติ ดังนั้น จึงได้มีการผลิตชุดความคิด เก็บข้อมูลจากการเสวนา การอภิปรายในรัฐสภา การวิพากษ์วิจารณ์ของเหล่านักวิชาการมาสังเคราะห์ เพื่อนำสู่พี่น้องครูจะได้ไม่นิ่งดูดายเหมือน “เหมือนคนตาบอดไม่กลัวเสือ จะได้ตาสว่างรู้ว่าร่างนี้คือเสือ”
เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวต่อไปว่า การที่จะพัฒนาการศึกษาชาติ ต้องจัดโดยครูมืออาชีพ ได้ตรงเป้าหมายชัดเจน “ต้องให้โรงเรียนมีฐานะเป็นสถานศึกษานิติบุคคลของรัฐ” ด้วยโดยสังเขปตามเจตนารมณ์ ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ กล่าวคือ 1. ใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ส่งเสริมให้เป็นรัฐเผด็จการสมบูรณ์แบบ ในร่างฯ จะมีระบบโครงสร้าง single command ทั้งในกระทรวงฯ และคณะกรรมการนโยบายฯ ปลูกฝังให้นักเรียนยอมรับปฏิวัติรัฐประหาร 2. รัฐจะไม่จัดการศึกษาให้ประชาชนโดยตรง จะลดบทบาทของรัฐจากการเป็นผู้จัดการศึกษาให้เป็นผู้จัดให้มีการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุน รวมทั้งกำกับนโยบายแผนมาตรฐานและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาโดยให้เอกชนชุมชน ผู้ปกครอง โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแจ้งให้ทราบแล้วขอใช้ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐได้ 3. ไม่มีสภาวิชาชีพ อนาคตครูไม่เป็นวิชาชีพควบคุมหรือไม่เป็นวิชาชีพชั้นสูง 3.1 วิชาชีพครูจะไม่เป็นวิชาชีพควบคุมอนาคตไม่เป็นวิชาชีพชั้นสูง 3.2 วิทยฐานะถูกตัดทอนและหมดไปในที่สุด 4. หลักสูตรไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการจัดทำต้นแบบโดย “สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้” ฯลฯ จึงมีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ควรจะต้องถอนออกมาจากสภา เพื่อแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ก่อนนำเสนอสภาต่อไปก็ยังไม่สาย เพราะนี้คือ การศึกษาของชาติที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เป็นกำลังของประเทศต่อไป.
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ