“เพชร กรุณพล” กร่างหนัก ป้อง “ดร.พอล” โดนร้องคดีผิด 112 วิจารณ์กลับ พวกรัก เทิดทูน สถาบันฯ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2568 เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 410 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีกองทัพภาคที่ 3 ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.พิษณุโลกให้ดำเนินคดี ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr. Paul Chambers) ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของสิงคโปร์
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม โดยบางส่วนเข้าร่วมทางออนไลน์ ดังนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดพิษณุโลก (กอ.รมน. ภาค 3) มีตัวแทนคือ พ.อ.วีรพงษ์ ไชยวงศ์ ผู้อำนวยการกองข่าว, กรมกิจการพลเรือนทหารบก, ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, เลขานุการเอกฝ่ายการเมือง ของสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา และตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมีวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานในที่ประชุม
ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้แจงถึงเหตุการณ์และตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในกรณีคดีของ ดร.พอล
สำหรับเอกสารที่กองทัพภาค 3 แจ้งความกล่าวหา ดร.พอล ตามมาตรา 112 นั้น เป็นเอกสารเพียง 1 แผ่นที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ISEAS ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเรื่องที่ ดร.พอล ถูกเชิญไปเป็นวิทยากร ซึ่ง ดร.พอล ยืนยันว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนเนื้อหาดังกล่าว ไม่ใช่แอดมินเว็บไซต์ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ดังกล่าว จึงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ถ้าหากพิจารณาในเนื้อหาเอกสาร จะเห็นว่ามีการใช้สรรพนามว่า ‘He’ ซึ่งหมายความว่าเป็นการกล่าวถึงบุคคลที่สาม ไม่ได้เป็นการใช้สรรพนามว่า ‘I’ โดยตัวเขาได้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับคำตอบว่าเอกสารดังกล่าวถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์ ม.ราชภัฏ แห่งหนึ่ง
นภิสา ชี้แจงต่อว่า กอ.รมน. ภาค 3 ลงนามโดยรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 25 ต.ค. 2567 ขอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ดร.พอล รวม 11 ข้อ อย่างเช่น ประวัติการศึกษาหรือการจ้างงานที่มหาวิทยาลัย และให้ชี้แจงเกี่ยวกับบทความบนเว็บไซต์ ISEAS ซึ่งก็ได้มีการตอบเป็นเอกสารกลับไป และนอกจากนั้นทางคณะได้ส่งหนังสือไปยังอธิการบดีสอบถามถึงอำนาจหน้าที่ในการสั่งการของ กอ.รมน. และขอให้เชิญ กอ.รมน. เข้ามาพูดคุยหารือกัน
นภิสาให้ความเห็นว่าปกติแล้วในการดำเนินคดีโทษร้ายแรงจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน จึงเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้นั้นผิดมาตั้งแต่ต้น และที่สำคัญ ดร.พอล ไม่เคยมีประวัติทำผิดอาญาตั้งแต่ปี 2536 ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ผู้พิพากษาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเพราะให้เหตุว่าเป็นโทษร้ายแรงและเป็นชาวต่างชาติ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอื่นประกอบ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 เม.ย. 2568 ก็ได้รับแจ้งจากทนายความว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล นั่นหมายความว่า ดร.พอล จะไม่สามารถปฏิบัติงานในประเทศไทยได้อีกต่อไป และต้องถูกระงับการปฏิบัติงานโดยทันที ทั้งที่ยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ชีวิตการทำงานของ ดร.พอล ในมหาวิทยาลัยนเรศวรก็จบลง และเมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่งพบว่า ตม. จังหวัดพิษณุโลกมีการแก้ไขคำสั่งการเพิกถอนวีซ่า จากเดิมที่อ้างเหตุจากคำสั่งตามมาตรา 12 (8) ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (เรื่องพฤติการณ์เกี่ยวกับการค้าประเวณีหรือค้ายาเสพติด) เป็นมาตรา 12 (7) แทน (มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร)
นภิสา กล่าวว่างานของ ดร.พอล เน้นศึกษาในเรื่องกองทัพ จึงไม่แน่ใจนักว่าจะมีความเชื่อมโยงกับมาตรา 112 อย่างไร สิ่งนี้จึงเป็นคำถามถึงเสรีภาพทางวิชาการ เพราะอาจเป็นการคุกคามในแง่สิทธิมนุษยชน และทางสหรัฐอเมริกาก็มองว่าเป็นการคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม (Wrongfully Detained) เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะได้ประกันตัวแล้ว ก็ยังติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)
พ.อ.วีรพงษ์ ไชยวงศ์ ผอ.กองการข่าว กอ.รมน. ภาค 3 ชี้แจงว่า การดำเนินคดีหลังตรวจพบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ‘อัษฎางค์ ยมนาค’ โพสต์ว่า ‘มหาวิทยาลัยนเรศวรจ้าง “พอล แชมเบอร์ส” มาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไร?’ และมีการแนบลิงก์เว็บไซต์ จากนั้นกองการข่าวจึงเรียนแม่ทัพภาคที่ 3 และให้กองกฎหมายพิจารณาก่อนที่จะทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยนเรศวร 2 ครั้งเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
ครั้งแรกส่งไปวันที่ 25 ต.ค. 2567 มหาวิทยาลัยตอบกลับวันที่ 13 พ.ย. 2567 และครั้งที่ 2 ส่งไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 มหาวิทยาลัยตอบกลับวันที่ 22 พ.ย. 2567 ซึ่งเห็นว่า ดร.พอล อาจมีพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัวตีความ และกระจายไปมีผลกระทบกับสถาบันฯ จึงไปแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2568
คณะกรรมาธิการสอบถามถึงอำนาจในการไปดำเนินคดีตามกฎหมาย โดย ผอ.กองการข่าวตอบว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 7 (1) “ให้ กอ.รมน. มีอํานาจหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป” ประกอบกับอำนาจหน้าที่กระทรวงกลาโหมตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มาตรา 8
เนื่องด้วยในมาตรา 7 (1) ระบุว่าให้มีการรายงานถึงคณะรัฐมนตรีก่อน คณะกรรมาธิการจึงขอให้ กอ.รมน. นำเอกสารรายงานถึงคณะรัฐมนตรีและหนังสือคำสั่งมติคณะรัฐมนตรีที่ชี้ให้เห็นว่าให้ไปดำเนินคดีมาแสดง และนอกจากนั้นก็สอบถามว่า กอ.รมน. อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เหตุใดจึงใช้กฎหมายของกระทรวงกลาโหมได้ ซึ่ง ผอ.กองการข่าว กอ.รมน. ภาค 3 ตอบว่าเนื่องจากมีข้าราชการทหารอยู่ จึงถือว่าอยู่ในกระทรวงกลาโหมด้วย