นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ม่องหมดแล้วพวกในวัง” โดยระบุว่า เป็นข้อความที่มีคนหวังร้าย ไปกระซิบบอก ผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอก ด้วยข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อแหกตา และปลุกปั่นมวลชน การสร้างข่าวเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง มีทุกยุคทุกสมัย การบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้เพิ่งเริ่มมีในยุคสามกีบนี้ แต่มีมาตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาแล้ว
เหตุการณ์นักศึกษาจำนวนมาก หนีตายเข้าวังสวนจิตฯ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งในเหตุการณ์เดือนตุลา และนำมาแหกตาซ้ำกับพวกสามกีบในปัจจุบัน เพื่อสร้างความจงเกลียดจงชังสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก ทั้งที่ความจริงคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้เปิดประตูวัง เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาให้พ้นภัย แต่ผู้ไม่หวังดีใช้โอกาสที่นักศึกษาหนีหายเข้าไปในวังนี้ ปล่อยข่าวเท็จว่า ในหลวงสั่งให้ฆ่านักศึกษานั้นทั้งหมด
พล.ต.อ.วสิษฐ คือหนึ่งในบุคคลที่เชื่อกันว่า เป็นผู้กุมความลับของเหตุการณ์ 14 ตุลา และนี่ คือคำต่อคำจากปากของ พล.ต.อ.วสิษฐ ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งในเวลานั้น ทำหน้าที่สำคัญในการติดต่อประสานเจรจากับผู้นำนิสิต นักศึกษา และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปอ่านต่อผู้ชุมนุม ในเวลา 5.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516
มีคนไปกระซิบบอก ผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า “ม่องหมดแล้วพวกในวัง” นิสิตที่อยู่ข้างนอก ที่มีคนมากระซิบว่า เขาจัดการคน (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้วคือ คุณพีรพล ตริยะเกษม เพราะข่าวนี้เอง ทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ ลานพระบรมรูปทรงม้า เคลื่อนมาที่หน้าประตู พระวรุณอยู่เจน ที่ สวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง พอเป็นอย่างนั้น ผมก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่า บัดนี้ อะไร ๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่า รัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว แล้วก็ปล่อยตัวแล้ว
นอกจาก จะปล่อยแล้ว ยังมีข้อตกลง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวัง เป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปี ตามที่รัฐบาลเคยบอก เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนิสิตไปชี้แจง ผู้แทนนิสิตบอกว่า เดี๋ยวเขาไม่เชื่อ อยากได้คนในวังไปด้วย ตอนนั้น คนในวังที่เป็นผู้ใหญ่มี 3 คน คนหนึ่งคือ หม่อมราชวงศ์ ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนคือ พันเอก เทียนชัย จั่นมุกดา (ยศในเวลานั้น) แล้วก็มีผม / เราก็ถามว่า มี 3 คน เลือกเอาว่า จะเอาใครไป คุณเสกสรร ชี้ว่า เอาพี่ ก็คือผม ที่เอาผม ก็เพราะ ผมเคยเป็นนิสิตจุฬาฯ และผมเขียนหนังสือขาย เป็นดาราทีวีด้วย เขาขอให้ผมไป ผมก็ยอม เวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวัง เป็นรถสองแถวคัน ไม่ใหญ่นัก ใช้หลังคาเป็นที่ยืนพูด ผมก็ปีนขึ้นไปบนหลังคารถ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ผมก็อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่ สำนักพระราชวังเขาบันทึกไว้ / แล้วขึ้นไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง
ผมก็ขึ้นไปอ่าน พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดเรื่องทั้งหมด อยู่ในหนังสือชื่อ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2516 ผมก็อ่านสำเนาพระราชดำรัส และแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่า พวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้ ผมบอกว่า พระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน ใครก็ไม่ทราบเป็นต้นเสียง ให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อม ๆ กัน คนแสนคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกระหึ่มหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตลดารโหฐาน ผมคุกเข่าลง ร้องไห้ด้วยความปีติ
จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ก็มีเสียงระเบิดตูมขึ้นทีหนึ่ง ปรากฏว่า เป็นนักเรียนอาชีวะคนหนึ่ง พกระเบิดขวดในกระเป๋า แล้วระเบิดโดยอุบัติเหตุ
แต่ต่อมาอีกสักประเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียง ตูม ตูม คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวด แต่เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นเหตุจากการปะทะของตำรวจ กับผู้ที่เดินกลับจากวัง ไปทางถนนราชวิถี พอเกิดการตีกันขึ้น
ก็เกิดข่าวปากต่อปาก แจ้งว่า ตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเอง… การจลาจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ … นี่คือ ที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
การปะทะกันที่หน้าสวนจิตรลดาเป็นไปอย่างรุนแรง มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่ง วิ่งมาที่ประตูวังและขอให้เปิดประตูรับ แต่นายทหารไม่กล้าเปิด ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้เปิดประตู
เข้ามา นิสิตนักศึกษาที่ทะลักเข้ามาในวัง มีประมาณ 2,000 คน ผมก็ยืนรับอยู่ที่นั่น บางคนเข้ามาถึง ก็มาต่อว่าผม ว่าหลอกให้ไปถูกตี ผมบอกว่าไม่รู้เรื่องเลย ผมก็อยู่กับพวกคุณนี่แหละ
พอพระองค์ ทรงทราบว่า นิสิตนักศึกษาเข้ามาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ ก็ทรงมาเยี่ยมคนที่เข้าไปในวัง
หลังเหตุการณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร หนีไปต่างประเทศ พร้อมจอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตั้ง อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ในขณะที่ กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ รู้สึกกังวลกับชัยนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจน การประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ
จนกระทั่ง วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร นักศึกษาเริ่มประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวว่า บุคคลที่ถูกแขวนคอนั้น มีใบหน้าคล้ายกับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจ ปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เวลาดึก คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง ที่มี พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจในเวลา 18.00 น. มีการตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มี ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้าย ทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เด็กสมัยนี้ ที่เขาว่า ตัวเองฉลาด มีความรู้ มีปริญญา เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อสืบหาข้อมูลได้ง่ายดาย แต่เมื่อมีคนอยากเขียนอะไรขึ้นมาลอย ๆ สั้น ๆ โดยไร้หลักฐานและความเป็นไปได้ คนรุ่นใหม่เหล่านั้น พร้อมจะเชื่อ ในทันที โดยไม่ใช้วิจารณญาณในการพิจารณา และไม่คิดหาความรู้หรือ สืบหาข้อเท็จจริง ที่ต้องอ่านข้อมูลยาว ๆ เยอะ ๆ เลยและต่อให้ มีใคร ให้ข้อเท็จจริง ก็ไม่สนใจจะยอมรับความจริง ชอบเสพแต่เฉพาะข้อมูลที่บิดเบือนเท่านั้น แบบนี้ ควรเรียกว่า เป็นคนโง่ที่ชอบให้เขาแหกตา ด้วยคำว่า เบิกเนตรจากข้อมูลเท็จ หรืออยากเป็นคนฉลาด ที่สืบหาข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจว่า ข้อมูลใดจริง ข่าวสารใดเท็จ
อัษฎางค์ ยมนาค