สภากาชาดไทย ออกชี้แจง หลังโดนกล่าวหาค้ากำไร!

สภากาชาดไทย ออกชี้แจง หลังโดนกล่าวหาค้ากำไร!

จากกรณีที่มีสื่อมวลชนได้เสนอข่าว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 โดยอ้างอิงข้อความในเฟซบุ๊กของผู้ใช้นาม Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งเขียนข้อความทำนองว่าสภากาชาดไทย ใช้เงินของตัวเองจองโควต้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โมเดอร์นา ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อนำมาขายต่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ นั้น ข้อความและข่าวดังกล่าวอาจก่อให้ให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อการดำเนินงานของสภากาชาดไทย
สภากาชาดไทยจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. สภากาชาดไทยเป็นองค์กรการกุศลที่มีรายได้เป็นเงินบริจาคจากพี่น้องประชาชนและได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสภากาชาดไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานภาครัฐโดยตรง

2. เดือนเมษายน 2564 ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีการระบาดรุนแรงมากขึ้น สภากาชาดไทยได้ริเริ่มจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนโดยได้ติดต่อกับหน่วยงานกาชาดในต่างประเทศ และบริษัทผู้จำหน่ายวัคซีนเพื่อจัดหาหรือขอซื้อวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนตามภารกิจของสภากาชาดไทย

3. ผลการประสานงานกับ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย ได้ตกลงจะขายวัคซีน จำนวน 1 ล้านโดส ให้แก่สภากาชาดไทยแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องซื้อผ่านหน่วยงานของรัฐ คือ องค์การเภสัชกรรม จึงจะขายให้ได้เพราะเป็นนโยบายของบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา
4. องค์การเภสัชกรรมได้คิดราคาขายวัคซีนให้แก่สภากาชาดไทย จำนวน 1 ล้านโดส ในราคาโดสละ 1,100 บาท โดยสภากาชาดไทยได้ใช้งบประมาณของสภากาชาดไทย ในการสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าว จำนวน 100,000 โดส เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทยไปบริการฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งได้เชิญชวนหน่วยงานทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 12 แห่ง ร่วมซื้อด้วย รวมจำนวน 150,000 โดส นอกจากนี้ สภากาชาดไทยได้เชิญชวนให้อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด มาร่วมกับสภากาชาดไทยในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งปรากฏว่ามี อบจ. จำนวน 38 จังหวัด แสดงความจำนงขอร่วมกับสภากาชาดไทยในการซื้อวัคซีนจำนวน 750,000 โดส จากองค์การเภสัชกรรมผ่านสภากาชาดไทย โดยไม่มี อบต. เข้าร่วมโครงการนี้
5. สภากาชาดไทยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนให้หน่วยงานในสังกัดและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงเรียนแพทย์ และ อบจ. จำนวน 38 จังหวัด เพื่อนำวัคซีน รวม 1 ล้านโดส มาฉีดให้กับประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าเท่านั้น ไม่ได้เป็นการนำวัคซีนมาขายต่อโดยเรียกเก็บเงินค่าวัคซีน Moderna เกินกว่าราคาโดสละ 1,100 บาท ที่ซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้สภากาชาดไทยได้ประกาศเปิดเผยต่อสาธารณชนมาตลอด สามารถตรวจสอบราคาที่สภากาชาดไทยซื้อได้จากองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด แจ้งว่าจะเริ่มทยอยส่งวัคซีนให้สภากาชาดไทยและหน่วยงานต่างๆ ได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

6. ในเดือนมิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ทำเนียบรัฐบาล ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานด้านการแพทย์ซึ่งรวมถึงสภากาชาดไทยด้วยให้เร่งรัดจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง สภากาชาดไทยจึงได้มีหนังสือถึงรัฐบาลขอรับการสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนให้แก่สภากาชาดไทยจำนวน 946 ล้านบาท เพื่อนำไปจองซื้อวัคซีนโมเดอร์นารุ่นใหม่ ในปี 2565 จำนวน 1 ล้านโดส โดยมีแผนดำเนินงานเพื่อนำวัคซีนมาให้หน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย นำไปฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าเช่นกัน

ดังนั้น การจัดหาวัคซีนของสภากาชาดไทย ทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการแรก จำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งใช้งบประมาณของสภากาชาดไทย หน่วยงานทางการแพทย์ และ อบจ. ในการจัดซื้อวัคซีนซึ่งจะเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในปี 2564 เป็นต้นไป และโครงการที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งใช้งบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลนั้น จะนำไปฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าในปี 2565 จึงไม่ได้เป็นการนำวัคซีนดังกล่าวไปแสวงหากำไรด้วยการนำไปขายต่อให้แก่ อบจ. หรือองค์กรใด ๆ ในราคาสูงกว่าต้นทุนที่สภากาชาดไทยจ่ายให้แก่องค์การเภสัชกรรมแต่อย่างใด
จึงเห็นได้ว่าสภากาชาดไทยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสภากาชาดไทยยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการใช้งบประมาณของสภากาชาดไทยในการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค ที่เรียกว่า ชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ไปมอบให้กับประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอและต้องกักตนเองที่บ้านพัก หรือที่ทางราชการจัดสถานที่ไว้ให้พักเป็นเวลา 14 วัน (local and state quarantine) ตั้งแต่การระบาดรอบเเรก เมื่อเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดทั่วประเทศ รวมมูลค่ากว่า 250 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา สภากาชาดไทยยังได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันแห่งชาติ (สปสช.) หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนจัดทำโครงการให้คำปรึกษาด้านการรักษาพยาบาลผ่านระบบโทรศัพท์ (telemedicine) ให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรงซึ่งพักอยู่ที่บ้าน (home isolation) รวมทั้งจัดบริการส่งยาฟาร์วิพิราเวียร์และอาหารให้แก่ผู้ป่วยดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 16,000 ราย

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ภูมิธรรม" ไม่รับปากเอาเรือดำน้ำ ขอศึกษาให้ชัด ยึดผลประโยชน์กองทัพ-ทำให้ปชชเข้าใจ
"มูลนิธิยังมีเรา" เป็นสะพานบุญ ส่งต่อสิ่งของบริจาค จากแฟนข่าวท็อปนิวส์ มอบเรือนจำกลางสมุทรปราการ
“ดร.ณัฏฐ์” ชี้สถานการณ์ยังไม่สุกงอม เชื่อปลุกม็อบล้มร้ฐบาลยังจุดไม่ติด
อิรวดีรายงานค.ตึงเครียดหลังไทยสั่งว้าแดงถอนทหารที่พรมแดน
ฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำทะลักท่วมย่านเศรษฐกิจเมืองยะลา ในรอบ 36 ปี - ถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านทรุดตัว
จีนสั่งสอบรมว.กลาโหมในข้อหาคอรัปชั่น
เครือซีพี ผนึก ภาครัฐ - ภาคประชาสังคม - ชุมชน เร่งฟื้นฟู “หญ้าทะเล” อ่าวไม้ขาว จ.สตูล หนุนอาหารพะยูนและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่ม Blue Carbon สร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยยั่งยืน
“บิ๊กอ้วน” เตรียมลงพื้นที่ชายแดนใต้ ช่วยน้ำท่วม หวังแก้ภัยพิบัติ ไม่ให้เกิดซ้ำ
กองปราบฯคุมตัว "พี่สาวเมียทนายตั้ม" ฝากขังศาลอาญาฯ พร้อมคัดค้านประกัน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น