เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 78/1121 ชั้น 32 อาคารเคนชิงตัน ถนนเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมืองสมุทรปราการ ตามหมายค้นศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา
การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ทางบริษัทผู้เสียหายได้ตรวจพบว่ามีการประกาศบนเว็บไซต์เพื่อขายข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จำนวนกว่า 600,000 ราย โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ของบริษัท จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้ดำเนินคดีแล้วและได้แจ้งฝ่ายสืบสวนทำการสืบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของบริษัทดังกล่าว จนพบร่องรอยพยานหลักฐานต่างๆ ทำให้ทราบถึงข้อมูลของคนร้าย จนนำมาสู่การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด และจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการตรวจค้นห้องดังกล่าวพบ นายวรพล สงวนนามสกุล อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นอดีตพนักงานของบริษัทที่รับจ้างพัฒนาระบบส่วนผู้ใช้งานของบริษัทผู้เสียหาย อยู่ในที่พักดังกล่าว และได้ตรวจยึดสิ่งของที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้แก่ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จำนวน 1 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และสมุดบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำนวน 1 เล่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาจากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้เข้าไปลักลอบขโมยข้อมูลของบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป จำนวนกว่า 600,000 รายชื่อ จริง จากนั้นนำข้อมูลไปขายในอินเตอร์เน็ต โดยรับชำระผ่านช่องทางสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งผู้ต้องหาได้รับประโยชน์จากการขายข้อมูลเป็นเงินจำนวนประมาณ 300,000 บาท และได้นำเงินที่ได้ไปใช้ในการเล่นการพนันออนไลน์
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า กองบัญชาการสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอแนะนำวิธีการในการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
1.บริษัทต่างๆ จะต้องระมัดระวังเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล หมั่นตรวจสอบบัญชีผู้ดูแลระบบหรือช่องทางที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของบริษัท และลบบัญชีของผู้ดูแลระบบหรือปิดกั้นช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่นกรณีพนักงานที่รับผิดชอบเปลี่ยนหน้าที่หรือลาออกจากบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่สำคัญรั่วไหลไปสู่บุคคลภายนอก
2.กำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของพนักงานแต่ละคน โดยควรให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของบริษัทได้ และกำชับให้ผู้ที่มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเก็บรักษาบัญชีและรหัสผ่านให้ปลอดภัย
3.การสร้างบัญชีผู้ใช้งานของเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย หรือรหัสผ่านที่เหมือนกันในหลายเว็บไซต์ เพราะหากเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งทำข้อมูลดังกล่าวรั่วไหล ผู้ที่ได้ข้อมูลดังกล่าวไปจะไม่สามารถเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งานของเราได้
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายวรพล “เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้น มิได้มีไว้สำหรับตน, เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน และกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้” นำตัวส่งพนักงานสอบสวนบก.ปอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป