9 ต.ค.2564 ตำรวจกองปราบ นำหมายจับศาลอาญาธนบุรี เข้าจับกุมนายพลกร (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ผู้ต้องหากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น,โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุลคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่มีสิทธิสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานหรือใชัยศตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ” โดยจับกุมได้ที่อพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง ย่านซอยกอไผ่ ถนนเทพประสิทธิ์ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 นายพลกร ผู้ต้องหา อ้างตัวเป็นตำรวจกองปราบ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยนายพลกร ผู้ต้องหา อ้างกับผู้เสียหายว่าตนเองได้ไปเซ้งร้านอาหารแห่งหนึ่งมา และต้องการให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนทำธุรกิจร้านอาหารดังกล่าวด้วย เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ดี ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงร่วมลงทุน
ต่อมาเมื่อผู้เสียหายสอบถามถึงผลตอบแทนในการลงทุน ผู้ต้องหากลับขอผัดผ่อนการจ่ายผลตอบเเทนเรื่อยมา โดยมักจะใช้กลอุบายหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อต่างๆ นานา เช่น หลอกว่าตนเองรู้จักสนิทคุ้นเคยกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง คนปัจจุบัน ทำให้ตนเองมีความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นตำรวจกองปราบจริง
โดยผู้ต้องหาจะส่งหลักฐานการแชทไลน์ที่ใช้ชื่อว่า “ผู้การกองปราบ”, “พี่ก้อง”, “THE KONG” กับไลน์ของผู้ต้องหาให้ทางผู้เสียหายดู เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าพูดคุยกับ พล.ต.ท.จิรภพ จริง โดยหลักฐานการพูดคุยดังกล่าว เป็นหลักฐานที่ผู้ต้องหาสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด ซึ่งมีทั้งการใช้ชื่อและภาพของ พล.ต.ท.จิรภพ มาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ไลน์ และนอกจากนี้ผู้ต้องหายังมีการแอบอ้างอีกว่าตนเองเป็นหลานของนายทหารระดับสูง ซึ่งตนเองกำลังจะได้รับมรดกจากนายทหารคนดังกล่าว ยืนยันว่าตนเองสามารถนำเงินผลตอบเเทนมาคืนให้กับผู้เสียหายได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ต้องหาขอผัดผ่อนเงินผลตอบเเทนของผู้เสียหายเรื่อยมานั้น ผู้ต้องหายังคงออกอุบายหลอกลวงผู้เสียหาย อาทิ หลอกให้เชื่อว่าผู้เสียหายกำลังมีเคราะห์กรรมร่วมกับผู้ต้องหา และ พล.ต.ท.จิรภพ หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินมาเพื่อทำพิธีแก้กรรมสะเดาะเคราะห์, หลอก เสียหายให้เชื่อว่าผู้ต้องหากำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้หย่ากับภรรยาและได้นำทรัพย์สินไปจำนำกับบุคคลอื่น จึงจำเป็นต้องขอยืมเงินผู้เสียหายเพื่อนำไปไถ่ถอนทรัพย์สินดังกล่าวออกมา
และภายหลังจากที่ผู้เสียหายโอนเงินไปให้แล้วนั้น ผู้ต้องหากลับขาดการติดต่อ และผู้เสียหายก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกทำให้เชื่อว่าตนเองถูกหลอก ซึ่งผู้เสียหาย โอนเงินไปให้กับผู้ต้องหาจำนวนทั้งสิ้น 162 ครั้ง เป็นเงินจำนวนกว่า 1,600,000 บาท จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีตามกฎหมาย
ตำรวจกองปราบ จึงทำการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาตามหมายจับ ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้ทำการสืบสวนติดตามตัวผู้ต้องหา จนทราบว่าผู้ต้องหาได้หลบหนีมาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้เดินทางไปตรวจสอบ และเข้าทำการจับกุม พร้อมตรวจยึดของกลางรวม 11รายกลาง ประกอบด้วย
1. สิ่งเทียมอาวุธปืน (ปืนอัดลม) จำนวน ๒ กระบอก 2. สิ่งเทียมอาวุธปืน (ปืนไฟแช็ก) จำนวน 1 กระบอก 3. เครื่องหมายขีดความสามารถหลักสูตรรบพิเศษแขนงการลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก และจู่โจมนาวิกโยธิน 4. แหวนสัญลักษณ์ตราแผ่นดิน 5. แหวนสัญลักษณ์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ 6. เสื้อกันกระสุน 7. เสื้อกั๊กสีดำมีตรากองบังคับการปราบปราม 8. ภาพถ่ายเคียงธงโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 9. ซองปืนคาดเอวแบบพกซ่อน 10. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 3 เครื่อง 11. เอกสารให้มีและใช้อาวุธปืน
จากนั้นควบคุมตัวผู้ต้องหา นำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้นจากการสอบถามผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหาพบว่า ผู้ต้องหายังคงมีหมายจับที่ยังต้องการตัวอีก 2 หมายจับ ดังนี้
1. หมายจับศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ 635/2563 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง”
2. หมายจับศาลแขวงดุสิต ที่ 40/2564 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง”