นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ คดีฉ้อโกงและหลอกหลวงประชาชน โดยพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1212 ส่วนใหญ่มาจากซื้อ-ขาย ออนไลน์ อาทิ การสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา ได้รับสินค้าชำรุด หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย รับหิ้วของ ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ โดยสัดส่วนการร้องเรียนจากการซื้อผ่านเฟซบุ๊ก สูงสุดคิดเป็น 82.4% หรือ 19,296 ครั้ง เว็บไซต์ 4.6% และอินสตาแกรม 4.3% และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม พบว่า ในปี 2564 มีร้องเรียนปัญหาซื้อขาย-ออนไลน์ เฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน
นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดกรณีฉ้อโกงต่อประชาชน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท อีกด้วย มากไปกว่านั้น สำนักงาน กสทช. ยังทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่าย เพี่อปิดกั้น SMS ชวนเล่นการพนันหรือปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายอีกด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงประชาชน จึงฝากเตือนอย่าหลงเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน เลือกเพจขายสินค้าที่ไว้ใจได้ ทั้งยังกำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปราบปรามเว็บการพนันออนไลน์ ที่มอมเมาเยาวชน ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินและอาชญากรรมอื่น ๆ ตามมา