การยื่นขออนุมัติยาโมลนูลพิราเวียร์ของทางเมอร์คครั้งนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือ FDA แล้ว จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหนทางการรักษาและการบริหารจัดการทางคลีนิกเกี่ยวกับโควิด-19 เนื่องจากสามารถรับประทานยาตัวนี้ที่บ้านได้
ตามข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน การรักษาด้วยยาโลนูลพิราเวียร์ จะช่วยลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จากการศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ปัจจัย
ขณะนี้ ผู้ผลิตยา มีสัญญาจ้างจากรัฐบาลสหรัฐ ในการจัดหายาโมลนูลพิราเวียร์ 1.7 ล้านชุด ในราคาชุดละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23,000 บาท โดย 1 ชุดต้องรับประทานต่อเนื่องกัน 5 วัน ด้านเมอร์คคาดว่าจะผลิตยาออกมาได้ 10 ล้านชุดเพื่อการรักษาภายในสิ้นปี 2564
สำหรับข้อมูลประสิทธิภาพเบื้องต้นของยาตัวนี้ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับ ริดจ์แบค ไบโอเทราพิวติกส์ (Ridgeback Biootherapeutics) ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหุ้นของผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 และทำให้เกิดการแย่งชิงระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพื่อลงนามในข้อตกลงซื้อขายยาตัวนี้กับเมอร์ค
นอกจากนี้ เมอร์คยังได้อนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญหลายแห่งในอินเดียใช้ยาตัวนี้ได้ ซึ่งคาดว่าจะจัดยาสำหรับการรักษาให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้อีกกว่า 100 แห่ง