เปิดใจน้ำตาคลอตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ทรงเสด็จสวรรคตว่า “ยังคงระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ รอยแย้มพระสรวลในวันนั้น เปรียบเสมือนน้ำทิพย์โชลมใจให้ก้าวต่อ ตามพระราชดำรัสที่ทรงเคยตรัสว่า ทำต่อไปนะศิริราช”
เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี แห่งวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทีมข่าวท็อปนิวส์โดยคุณแซค ธราวุฒิ ฤทธิอักษร มีโอกาสสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระองค์ เมื่อครั้งทรงประชวร และพักรักษาพระวรกายอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช โดยในบางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์ นพ.ประสิทธิ์ มีน้ำตาเอ่อล้นตลอดเวลาของการสัมภาษณ์ บางช่วงเป็นน้ำตาของความคิดถึง บางช่วงเป็นน้ำตาของความสุข บางช่วงเป็นน้ำตาของความจงรักภักดี
แต่ทั้งหมดคือน้ำตาแห่งความรัก ความผูกพันธ์ และน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่าเคยมีโอกาสได้ถวายงานในหลวง ร. 9 ตั้งแต่ พ.ศ.2543 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ภูมิใจ แต่โดยทั่วไปไม่ชอบไม่อยากเล่าเรื่องแบบนี้ออกมา เพราะถือว่าถวายงานให้ท่านไปแล้ว แต่ว่าระหว่างถวายงานมีสิ่งหนึ่งที่จนถึงวันนี้ ก็ยังยึดไว้เป็นแนวทางที่พระองค์ท่านเคยพระราชทานไว้ คือครั้งหนึ่ง ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ตอนปี พ.ศ.2547 -2550 ช่วงที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ใหม่ๆ งานหนักจริงๆ จนน้ำหนักหายไป 8 กิโลกรัม เพราะช่วงนั้นงานในโรงพยาบาลศิริราชเยอะมาก คนไข้ก็เยอะ เรื่องราวจิปาถะก็เยอะ
หลังจากที่มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชประมาณ 6 เดือน ตอนนั้นได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านที่พระราชวังไกลกังวล ได้เข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลเล่าเรื่องปัญหาโรงพยาบาลศิริราช เผื่อจะทรงพระราชทานคำแนะนำ ระหว่างที่กำลังเล่าไปเหมือนกับระบาย ท่านก็ทรงฟังสักระยะหนึ่งและหันกลับมาแย้มพระสรวลเล็กน้อย แววพระเนตรมีพระเมตตามาก แล้วรับสั่งสามคำสั้นๆ ‘ทำต่อไป’ นพ.ประสิทธิ์เล่าให้ทีมข่าวท็อปนิวส์ฟังต่อว่า หลังได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ท่าน ก็เลิกบ่นเลย และหลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ นพ.ประสิทธิ์ก็ไม่บ่นอีกเลย คำว่า ‘ทำต่อไป’ ยังสื่อความหมายอีกในเรื่องความเพียร ความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำ
หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ สามคำนั้นก็ยังอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา เวลามีเรื่องหนักๆ คำว่าท้อก็ไม่เกิดแล้ว ผมรู้จักกับพยาบาลที่ดูแลท่าน ท่านเคยรับสั่งกับพยาบาลว่า หมอประสิทธิ์ เขาทำงานหนัก แสดงว่าจริงๆ ท่านทรงฟังตอนที่เราเล่า แต่ด้วยคำแค่สามคำ ผมก็ไม่เคยบ่นและเล่าเรื่องพวกนี้อีกเลย คำสามคำนี้เป็นการพระราชทานกำลังใจที่ดีมากนะครับ แต่เป็นดีมากในสไตล์ของพระองค์ ผมคิดว่าถ้าเรานึกย้อนหลัง เวลาที่ท่านเสด็จไปตามที่ต่างๆ เห็นปัญหาต่างๆ ไปอ่านย้อนหลังจะรู้เลยว่าเรื่องหลายเรื่อง ท่านส่งต่อให้กับผู้รับผิดชอบดูแลในหน่วยงานราชการต่างๆ แต่บางทีไม่เกิดอะไรขึ้น พอไม่เกิดขึ้นท่านก็ทรงดำเนินการเอง กลายเป็นโครงการพระราชดำริ พอดำเนินโครงการเอง บางโครงการไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ บางโครงการกว่าจะพิสูจน์ว่าดีจริงแล้วคนยอมรับ ใช้เวลาเป็นปีๆ การพลิกพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ไม่ได้เลยจนกลายเป็นป่าเขียวขจี ถ้าไม่มีคำว่า ทำต่อไป ก็ยากที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ นพ.ประสิทธิ์ ยังเล่าให้ทีมข่าวท็อปนิวส์ฟังต่อว่า ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับรักษาพระวรกายศิริราช ท่านยังทรงงานอยู่เสมอ ขณะที่ท่านประทับอยู่ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 16 ท่านก็ทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เป็นระยะอยู่แล้ว เวลาที่ท่านเสด็จฯ ไปที่ชั้น 7 ของ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ก็ไปทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เป็นครั้งคราว ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้ไปทอดพระเนตรเพื่อพักผ่อนเพียงอย่างเดียว ผมเชื่อว่าท่านทอดพระเนตรดูความเร็วของน้ำไหล ปริมาณน้ำว่าจะกำลังจะถึงขอบตลิ่งหรือไม่ ท่านทรงใส่พระทัยในเรื่องนี้ตลอดเวลา
และในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ นพ.ประสิทธิ์ ยังได้เล่าย้อนเหตุการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่พสกนิกรไทย ร่ำไห้น้ำตานองทั้งแผ่นดิน หลังทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันที่ยากจะลืมเลือน แม้วันเวลาจะผ่านไปกี่ปี แต่ความจงรักภักดีจะคงสถิตย์อยู่ในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ ซึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ผู้ประคองพระบรมโกศ อยู่ภายในขบวนพระบรมราชอิสริยยศของพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และบุคคลสำคัญทั้งสองท่านนั่นก็คือ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดยทั้งสองท่านถือเป็น 2 บุคคลสำคัญที่เคยถวายงานใกล้ชิดในหลวง ร.9 นพ.ประสิทธิ์เป็นผู้ถวายการดูแลในหลวง ร.9 ตอนที่พระองค์ทรงพักรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราช ส่วนคุณหมอประดิษฐ์ เป็นผู้ถวายงานเข็นพระเก้าอี้เลื่อนทุกครั้ง ดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้จึงถือเป็นเกียรติอันสูงสุดสำหรับชีวิตของคุณหมอทั้ง 2 ท่าน