วันที่ 13 ต.ค. -นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และอดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับ “Top News” ถึงในหลวงร. 9 เนื่องในวันครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต 13 ต.ค.ว่า ในฐานะที่เป็นนักการเมืองมากว่า 50 ปี ได้อยู่หลายตำแหน่งและมีโอกาสทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโครงการของพระองค์ท่าน เช่น รมว.เกษตรและสหกรณ์ 2 ครั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดูแลภาพรวมทั้งหมดในการบริหารบ้านเมือง สิ่งที่มีเป็นส่วนตัวคือได้รับพระราชทานคำแนะนำพิเศษหลายเรื่อง ตอนเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ตนไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แต่สิ่งเหล่านี้เรียนรู้ได้ด้วยการศึกษาหรือสอบถามผู้รู้
นายชวนกล่าวว่า ตนจำได้แม่นในวันนั้นหลังจากที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเสร็จแล้ว หรือเรื่องส่วนตัวก็ทรงเมตตาที่ได้พระราชทานเกียรติให้ เช่น เวลามีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าแม่ถ้วนแม่ของตนป่วย ความจริงเวลาเสด็จตามราชการนั้น พระองค์ท่านไม่มีเวลามาคุยเรื่องเหล่านี้ แต่มีวันหนึ่งทรงเสด็จผ่านไปแล้วทรงแวะมาจุดที่ตนยืนถวายการต้อนรับอยู่ คำแรกที่พระองค์ท่านรับสั่งคือ “ท่านนายกฯ คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง” ตนรู้สึกตื้นตันใจและนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนแม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินถามถึงแม่นะว่าเป็นอย่างไร เพราะตอนนั้นแม่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หรือเวลาเข้าเฝ้าฯในฐานะที่เราเป็นผู้รู้น้อยและอาวุโสน้อยกว่าพระองค์ท่านที่มีประสบการณ์ยิ่งใหญ่ก็พระราชทานคำแนะนำหลายเรื่อง ไม่ใช่เป็นการสอนคน แต่เป็นการอธิบายบางอย่างให้เข้าใจ ตนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้บางเรื่องเพิ่มเติม เช่น ให้เจ้ากรมแผนที่ทหารมาสอนวิธีดูแผนที่
นายชวน กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าในหลวง ร.9 ทรงพระราชทานต่อประชาชนยิ่งใหญ่และยั่งยืนตลอดไป เพราะฉะนั้นแนวพระราชดำริที่พระราชทานจะมีลักษณะให้คนรู้จักช่วยตัวเอง โดยแนวที่ทรงดำริหลายเรื่องนอกเหนือจากโครงการชลประทานที่มีผลยิ่งใหญ่มากมายสามารถป้องกันและลดปัญหาบ้านเมืองได้หลายเรื่อง แต่ที่ยั่งยืนและคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ แนวเรื่องที่ให้คนดำรงชีวิตด้วยปัจจัยสี่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร ต้องยอมรับว่าขณะนี้ในทางโภชนาการถือว่าปลาคืออาหารที่เป็นประโยชน์ที่สุด ทุกชั้นกินได้ และมีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังเป็นล้านๆ คน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะปลานิล ที่ในหลวงทรงเริ่มขึ้นหลังจากได้รับพระราชทานมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตนได้เห็นด้วยตาตนเองว่าที่จ.ตรังมีการนำปลานิลไปเลี้ยงในกระชังในบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ในที่สุดปลานิลก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำได้ เพื่อให้ปลานิลกินเศษอาหารที่กุ้งกินแล้ว ทำให้บ่อกุ้งไม่มีน้ำเน่าเสีย
นายชวน กล่าววต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ได้มีโอกาสสนองต่อพระองค์ท่านคือ แนวพระราชดำริเรื่องการเลี้ยงโคนม ที่พระองค์ท่านได้รับการถวายความช่วยเหลือจากเดนมาร์ก ทำให้เกิดสหกรณ์โคนมที่อ.บ้างโป่ง จ.ราชบุรี โคนมเหล่านี้อยู่ที่ความสมัครใจว่าใครจะเลี้ยงหรือใครจะกิน เมื่อตอนที่ตนเป็นนายกฯ ได้เริ่มโครงการให้เด็กดื่มนมตั้งแต่ชั้นอนุบาล1 จนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เพิ่มถึงประถมศึกษาปีที่ 6 วันนี้โภชนาการเรื่องนมที่มีโปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ทำให้เด็กไทยมีสรีระเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยคนไทยสูงขึ้นเฉลี่ย 11 เซนติเมตร จากนั้นนมก็ทำให้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นคือการขยายอาชีพเลี้ยงโคนม แต่สิ่งสำคัญคือผลตอบแทนเรื่องคุณภาพชีวิตคนที่ยั่งยืน
นายชวน กล่าววด้วยว่า ส่วนการปกครองบ้านเมือง แนวพระราชทานที่พระราชทานมานานแต่ยังทันสมัยอยู่คือพระราชทานโอวาทแก่ลูกเสือในปี 2512 ว่าวันหนึ่งถ้าลูกเสือโตเป็นผู้ใหญ่จะต้องมีตำแหน่งสำคัญ ขอให้ระลึกว่าบ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด การทำให้บ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อยจึงไม่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง อย่าให้คนไม่ดีมีอำนาจ ซึ่งในอนาคตบ้านเมืองเรายังมีคนดีและไม่ดีอยู่เสมอ เราจะผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้ก็ต้องยึดแนวพระราชทานนี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่พระราชทานให้กับคนทุกระดับคือแนวพระบรมราโชวาทในวันที่ 5 ธ.ค. 2552 และ 2553 เป็นสองปีที่พระองค์ท่านรับสั่งซ้ำเรื่องความรับผิดชอบ ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในการประชุมที่พัทยา และเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองสมัยนั้น ที่เกิดจากคนไทยแท้ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปสกัดกั้นป้องกันได้แต่ละเลยไม่ปฏิบัติที่เกิดจากความรับผิดชอบ โดยพระราชทานคำแนะนำว่าขอให้คนที่มีสถานะเหล่านี้และประชาชนทุกหมู่เหล่าพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าหน้าที่ของท่านคืออะไรแล้วทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะบ้านเมืองเป็นของคนไทยทุกคน ไม่มีใครเก่งกล้าสามารถทำอะไรคนเดียวได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันด้วยความรับผิดชอบที่ตนมีหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ ซึ่งยังคงเป็นประโยชน์และเราควรยึดแนวพระองค์ท่านปฏิบัติต่อไป
ส่วนหลักคำสอนของพระองค์ที่น้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำงานนั้น นายชวนกล่าวว่า ตนอยู่ในหลายตำแหน่ง แต่ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ตาม ก็ทำงานในหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดด้วยความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์สุจริต ตนเรียนกฎหมายมา พระบรมราโชวาทที่มีค่ายิ่งก็คือ เมื่อกฎหมายเราดีอยู่แล้วสิ่งที่ต้องการก็คือนักกฎหมายที่ดีแท้ ซึ่งตนไม่เคยได้ยินในอาชีพอื่น แต่คำนี้คือต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ กล้าวินิจฉัยตัดสินใจยึดมั่นหลักกฎหมายอย่างยุติธรรม
เมื่อถามถึงการสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ และชอบวาดรูป รวมถึงรูปพระองค์ท่าน นายชวนกล่าวว่า ตนชอบบันทึกด้วยลายเส้นของตนเองไว้ พระองค์ท่านเคยถามเป็นส่วนพระองค์ว่าวันนี้เขียนได้กี่รูป เวลามีแขกต่างประเทศมาตนก็นำกระดาษเขียนภาพผู้นำประเทศ และภริยา ที่มาเยือนไทยในฐานะแขกของพระองค์ท่าน ส่วนความเมตตาหนึ่งที่ตนไม่อาจลืมคือ เวลานำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าส่วนใหญ่แขกจะใช้ภาษาอังกฤษ ตนก็พอจับใจความได้บ้างในการสนทนา แต่เมื่อใดที่แขกพูดภาษาอื่น เช่น ภาษาฝรั่งเศส ตนไม่มีความรู้ เมื่อแขกพูดจบ พระองค์ท่านจะหันมาที่ตน แล้วบอกว่าขณะนี้กำลังพูดเรื่องนี้กันอยู่ ทรงแปลให้ อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเราคนสามัญคนหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีเมตตาก็เป็นความยิ่งใหญ่ในจิตใจที่ระลึกตลอดเวลา
“ผมก็ยึดมั่นในแนวทางที่ทรงแนะนำคนทั้งประเทศเหมือนกับคนอื่นทั่วๆ ไปคือการทำงานด้วยความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และในหลวงทรงให้ความสนพระทัยเรื่องนี้มาก ดูจากพระบรมราโชวาทแต่ละครั้งที่พระราชทานให้กับบัณฑิตแต่ละมหาวิทยาลัยที่ทรงย้ำเรื่องนี้ บ้านเมืองเราถ้าแก้ไขปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การคอรัปชั่นได้ บ้านเมืองเราจะไปได้ไกลกว่านี้มาก” นายชวนกล่าว
เมื่อถามว่า ปัจจุบันสถาบันถูกการเมืองนำไปโจมตี เราจะสร้างแนวความคิดความจงรักภักดีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไร นายชวนกล่าวว่า คนที่มีแนวคิดเช่นนั้นเป็นคนส่วนน้อย เพียงแต่เป็นคนที่กล้าออกมา แต่คนส่วนใหญ่ที่ยึดมั่นต่อสถาบันไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอะไร เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามภารกิจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นพันปี ต้องเชื่อมั่นระบอบการปกครองนี้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ใดล่วงละเมิดกฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือขัดต่อหลักการปกครองนี้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการโดยไม่ต้องกลัวหรือเกรงใจใคร คนส่วนหนึ่งอาจจะถูกยุยง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย โดยมีผู้ใหญ่บางคนสอนให้ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดังนั้นตามระบอบประชาธิปไตยเราไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ ต้องยึดหลักกฎหมาย อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด