หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงเตรียมเตรียมเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายน สำหรับผู้ฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศความเสี่ยงต่ำอย่างน้อย 10 ประเทศ และแสดงผลตรวจ RT-PCR เดินทางเข้าประเทศโดยทางอากาศ และดีเดย์เปิดให้มีการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน รวมถึงการเปิดสถานบันเทิงในวันที่ 1 ธันวาคม และการเตรียมพร้อมสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 หวังฟื้นเศรษฐกิจไทยจากการท่องเที่ยว
เมื่อเราดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล จากผู้ติดเชื้อสูงสุด 23,418 ราย เมื่อวันที่ 13 ส.ค.64 ซึ่งวันนั้นมีผู้ติดเชื้อใน 10 จังหวัดสูงสุดคือ 1 กรุงเทพมหานคร 5,140 ราย ,2 สมุทรปราการ 1,936 ราย ,3 สมุทรสาคร 1,847 ราย , 4 ชลบุรี 1,408 ราย , 5 นนทบุรี 731 ราย , 6 อุบลราชธานี 537 ราย , 7 นครปฐม 532 ราย , 8 บุรีรัมย์ 530 ราย , 9 สระบุรี 485 ราย , 10 พระนครศรีอยุธยา 484 ราย
ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อในวันนั้น ก็เป็นกลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการแพร่ระบาดและติดเชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว คือ กทม. และจังหวัดโดยรอบปริมณฑล นอกจากนั้นจะมีคลัสเตอร์แต่ละพื้นที่บ้าง แต่หลักๆของผู้ติดเชื้อคือส่วนกลาง
ขณะที่ตัวเลขการติดเชื้อในวันนี้ 13 ต.ค.64 พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 10 จังหวัดสูงสุดคือ 1.กรุงเทพมหานคร 1,142 ราย , 2.ยะลา 650 ราย , 3.สงขลา 475 ราย , 4. สมุทรปราการ 453 ราย , 5.ชลบุรี 442 ราย , 6. ปัตตานี 423 ราย , 7.นราธิวาส 420 ราย , 8.ระยอง 326 ราย , 9. จันทบุรี 311 ราย และ 10.นครศรีธรรมราช 264 ราย
พบว่า กทม.ยังเป็นจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดแต่ยอดต่ำลงมาก ส่วนจังหวัดวงรอบ ปริมณฑล นนทบุรี ,ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม ยอดการติดเชื้อลดน้อยลง จะยังคงมีเพียงจ.สมุทรปราการ ที่เป็นแหล่งรวมของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยังคงพบคลัสเตอร์กลุ่มก้อนในโรงงานอยู่ แต่ที่น่าห่วงคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กลับไปพุ่งสูงที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส นครศรีธรรมราช ซึ่งยอดพุ่งกระโดดขึ้นมา ผลจากคลัสเตอร์ งานบุญประเพณี การแพร่เชื้อภายในครอบครัว
ส่วนจะส่งผลกับการแผนการเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่นั้นก็คงไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมาก เพราะถ้าหากเราพิจารณาแผนตามที่นายกฯกำหนดคือ ฉีดวัคซีนครบโดส ,มีผลตรวจโควิดแบบ RT-PCR และตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางถึงไทย และวันที่ 1 ธ.ค. จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นพร้อมกับ การเปิดสถานบริการ สถานบันเทิง อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วยนั้น จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเวฟ 5 หรือไม่
ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแรกที่ประเทศไทย ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบ Sandbox เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังการใช้โมเดลนี้นำไปสู่การเปิดประเทศ โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน รายงานโครงการแผนภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2564 ว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว 36,875 คน
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมามากที่สุดอันดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา 5,678 คน ตามมาด้วยอิสราเอล 5,341 คน อังกฤษ 4,662 คน เยอรมนี 3,709 คน และฝรั่งเศส 3,578 คน ขณะที่คนไทยเดินทางเข้าประเทศตามโครงการนี้ 7,222 คน
ในส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยว ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน มีจำนวน 1,634 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงิน 3,818 ล้านบาท นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะมีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,634 ล้านบาท ช่วยก่อให้เกิดเม็ดเงินที่หล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนมีผลช่วยกระจายประโยชน์ด้านเศรษฐกิจสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่งโดยสาร เป็นต้น และธุรกิจอื่นที่เป็นห่วงโซ่อุปทานสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน เป็นต้น
ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า เห็นด้วยกับแผนการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี เพราะอัตราการฉีดวัคซีนในไทยขณะนี้เข็ม 1 ฉีดครอบคลุมคนไทยได้เกินร้อยละ 50 แล้ว ส่วนเข็ม 2 ก็เกิน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด รวมทั้งผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งการฉีดวัคซีนที่มากพอ ช่วยลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
แต่ย้ำว่า การจะเปิดประเทศได้ต้องดำเนิน 3 มาตรการควบคู่กัน คือ 1.มาตรการการฉีดวัคซีน แม้ขณะนี้จะฉีดได้จำนวนมากแล้ว ก็ยังต้องระดมฉีดโดยการจะทำให้มาตรการนี้สำเร็จคือ ต้องมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งไทยมีวัคซีนเพียงพอแล้ว โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไปจะมีวัคซีนเข้ามาเดือนละ 20 ล้านโดส จึงต้องฉีดต่อเนื่องและคนต้องยอมให้ฉีดด้วย
2.มาตรการส่วนบุคคล ที่หย่อนยานไม่ได้ ต้องดำเนินการตามมาตรการเคร่งครัด และ 3. มาตรการด้านบริหารจัดการ และการปกครอง ต้องเข้มงวด ในกรณีที่มีมาตรการชัดเจน แต่ประชาชนไม่ปฏิบัติตาม แล้วเกิดการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ หากเปิดประเทศแล้ว ก็คาดการณ์ว่า อาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ การหย่อนยานมาตรการนั้น นพ.ประสิทธ์ กล่าวว่า มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็ต้องควบคุม โดยควรตรวจหาเชื้อที่มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยทำให้เชื้อไม่หลุดลอดเข้ามาได้
นพ.ประสิทธิ์ ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด หากทำได้ก็เชื่อว่า จะได้ผลแต่ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่พูดแล้วไม่ทำ ซึ่งก็จะส่งผลทำให้การประเมินมาตรการต่าง ๆ ทำไม่ได้