เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ตามที่ปรากฏข่าว พบลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำนวนมากประสบปัญหาการทำรายการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้รับทราบปัญหาและได้ตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นพบว่า มิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการ
ที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้
สำหรับลูกค้าที่ตรวจสอบพบความผิดปกติของรายการธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป
ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารพาณิชย์มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบรายการที่ผิดปกติ ธนาคารจะแจ้งลูกค้าเพื่อตรวจสอบและยืนยันรายการธุรกรรม และพร้อมจะดูแลลูกค้าด้วยความรับผิดชอบเสมอ
https://www.facebook.com/SocialMediaRoyalThaiPolice/posts/3273087219647237
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ออกมาเตือนภัยกรณีมีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีผู้เสียหายถูกหักเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตรเดบิต จำนวนหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ สร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน
โดยพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งไปยังธนาคารเพื่อทำการอายัดบัตร และปฎิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ และทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำความผิด และนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตรและรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไปรษณีย์ไทยปลอม ซึ่งคนร้ายจะทำหน้าเว็บไซต์มีโลโก้ไปรษณีย์ไทยเหมือนของจริง หลีกเลี่ยงการกดลิงค์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือ สื่อสังคมออนไลน์
หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก นอกจากนี้ ยังประชาชนควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพ มิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ประชาชนที่พบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดจากมีเจ้าของบัญชีธนาคารหลายราย ออกมาโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ หลังถูกตัดเงินออกจากบัญชี โดยมียอดเงินหลักสิบบาท ถึงหลักหมื่นบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายการซื้อสินค้าและบริการ ผ่านร้านค้าออนไลน์ ที่ผูกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ขณะที่บางรายเป็นค่าโฆษณาจาก Social Network
กลุ่มผู้เสียหายได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ชื่อกลุ่ม “ แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว “ เพื่อให้ผู้ที่รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งปรากฎว่ามีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ราว 4 หมื่นรายแล้ว โดยต่างเข้ามาแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองจำนวนมาก
โดย ผู้ดูแลกลุ่ม ได้ทำโพลเพื่อสำรวจผู้เสียหายจากการถูกหักเงินในบัญชีโดยไม่รู้ตัว ในหัวข้อ
– ติดต่อกับธนาคารแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินคืน
– ยังไม่ได้ติดต่อธนาคาร และยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
– ติดต่อธนาคารแล้ว ได้รับเงินคืนครบจำนวน
– ติดต่อกับธนาคารแล้ว ได้รับเงินคืนบางส่วน
ซึ่งส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาโหวตว่า ติดต่อกับธนาคารแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินคืน