ช่วงบ่ายที่ผ่านมา ( 18 ต.ค.2564 ) ม.จ.จุลเจิม ยุคล ทรงโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจต่อการจากไปของม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ความว่า “18 ตุลาคม 2564 มาพร้อมกับข่าวร้ายกับการจากไปของพี่ชายที่รักและเคารพนับถือม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ซึ่งชีวิตมีแต่งาน ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯลฯ และก่อนหน้านั้นคือ คุณชาย ดิศนัดดา เป็นราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รู้สึกเศร้าจนไม่อยากเขียนอะไร”
ทั้งนี้ประวัติของ ม.ร.ว.ดิศนัดดานั้น เป็นโอรสในหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล และ หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 สมรสกับ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา มีบุตรชาย 2 คน ได้แก่ ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล และ ม.ล. ศานติดิศ ดิศกุล ปัจจุบันอายุ 82 ปี
ม.ร.ว. ดิศนัดดา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา (บลูมมิงตัน) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็เข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใน พ.ศ. 2510 และสนองพระราชดำริด้านการพัฒนาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตลอดพระชนม์ชีพ
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ที่ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และเป็นประธานกรรมการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ในเวลาต่อมา ได้ชักนำชาวดอยตุงพลิกภูเขาหัวโล้นประมาณหนึ่งแสนไร่ให้กลายเป็นผืนป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์ ทั้งยังลดปัญหาการปลูกพืชเสพติดในวงกว้างตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำให้ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ในนามของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทยและต่างประเทศให้นำประสบการณ์การดำเนินงานไปขยายผลในหลายประเทศ อาทิ เมียนมา อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะต้นแบบของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก ประสบการณ์ในการสนองงานดังกล่าวทำให้ ม.ร.ว.ดิศนัดดามีความชำนาญและทุ่มเทความสามารถเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส โดยนอกเหนือจากการบริหารงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ยังก่อตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะในเรื่องของศาสตร์พระราชา มูลนิธิรากแก้วซึ่งเป็นโครงการให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้แนวพระราชดำริฯ และนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนใกล้เคียง โครงการขยายผลร้อยใจรักษ์ฯ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ
นอกจากนี้ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกหลายแห่ง ได้แก่ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) มูลนิธิขาเทียม และมูลนิธิถันยรักษ์ ตลอดจนร่วมเป็นผู้บริหารและกรรมการต่าง ๆในภาครัฐ
จากการอุทิศตนในการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดมากว่า 50 ปี จึงได้รับการยอมรับและยกย่องจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเคยได้รับรางวัล Schwab foundation 2009,
Nikkei Asia awards 2014 , Indiana University 2016 รวมถึงรางวัลจากมหาวิทยาลัย สถาบัน และองค์กรต่างๆ ในประเทศอีกมากมาย