แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,918 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 79 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,878 ราย อยู่ระหว่างรักษา 103,507 ราย อาการหนัก 2,728 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 619 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 49 ราย มีโรคเรื้อรัง 23 ราย และเด็กอายุ 1 เดือนเสียชีวิตที่ จังหวัดตาก 1 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 18 ราย ซึ่งพื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตรวมกันสูงถึง 20 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 994,781 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทั้งสิ้น 67,587,102 โดส
ด้าน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 20 ตุลาคม ได้แก่ กทม. 1,020 ราย ยะลา 704 ราย ปัตตานี 520 ราย สงขลา 484 ราย สมุทรปราการ 359 ราย ชลบุรี 328 ราย เชียงใหม่ 294 ราย นราธิวาส 284 ราย นครศรีธรรมราช 266 ราย จันทบุรี 265 ราย ภาพรวมของทั้งประเทศถือว่าลดลง มีเพียง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และจากข้อมูลการตรวจหาเชื้อแบบ ATK พบการติดเชื้อมากในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา รวทั้งยังพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK มากในพื้นที่นครศรีธรรมราช กระบี่ เชียงใหม่ และเชียงราย จึงขอให้ทุกจังหวัดที่มีแนวโน้มการรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมาตรการระมัดระวัง นอกจากนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ พบอีกหลายคลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์กาดเมืองใหม่ ซึ่งมีการแพร่เชื้อไปยัง จังหวัดแม่ฮ่องสอน คลัสเตอร์แรงงานไม้ตัดยาง คลัสเตอร์ร้านอาหาร คลัสเตอร์บ้านพักนักเรียนประจำ คลัสเตอร์ร้านค้า ขอให้จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิต
ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า มีจังหวัดยะลาเพียงจังหวัดเดียวที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปเกินร้อยละ 50 ของประชากรในจังหวัด ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ มี จังหวัดยะลา สงขลา นราธิวาส ที่ฉีดเกินร้อยละ 50 แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งส่งวัคซีนเข้าไปเพื่อให้เร่งฉีดวัคซีนประชาชน